คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7566/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพว่า คนต่างด้าวที่จำเลยให้ความช่วยเหลือเป็นคนต่างด้าวที่นายจ้างนำไปขึ้นทะเบียน จึงมีสิทธิที่จะประกอบอาชีพในราชอาณาจักร เป็นการอุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยขาดองค์ประกอบความผิด เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยยกขึ้นอุทธรณ์ได้ แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (6) ประกอบมาตรา 215 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยให้ความช่วยเหลือคนต่างด้าวจำนวน 18 คน ให้พ้นจากการจับกุมแม้เอกสารแนบท้ายอุทธรณ์จะรับฟังได้ว่าคนต่างด้าวจำนวน 4 คน เข้ามาในราชอาณาจักรโดยได้รับอนุญาต และขณะเกิดเหตุยังอยู่ภายในระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว ฯ มีผลทำให้การกระทำของจำเลยเกี่ยวกับคนต่างด้าวอีก 4 คน ดังกล่าว ขาดองค์ประกอบความผิดตามฟ้อง แต่ยังคงรับฟังได้ว่าคนต่างด้าวอีก 14 คน ที่จำเลยให้ความช่วยเหลือนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย จำเลยจึงยังมีความผิดตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการทำงานคนต่างด้าว พ.ศ.2520 มาตรา 64 (ที่ถูก พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง) จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 6 เดือน เมื่อลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า จำเลยจะอุทธรณ์โต้เถียงว่าคนต่างด้าวที่จำเลยให้ความช่วยเหลือเป็นคนต่างด้าวที่นายจ้างนำไปขึ้นทะเบียน มีสิทธิที่จะประกอบอาชีพในราชอาณาจักรหาได้ไม่ เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ในชั้นอุทธรณ์ เป็นปัญหาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รับวินิจฉัยนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า อุทธรณ์จำเลยดังกล่าวเป็นการอุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยขาดองค์ประกอบความผิด เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงยกขึ้นอุทธรณ์ได้ แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (6) ประกอบมาตรา 215 ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) และมาตรา 247 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่จำเลยฎีกาว่าคนต่างด้าวจำนวน 18 คน เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางอย่างถูกต้องและอยู่ในราชอาณาจักรโดยได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ตามแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าว เอกสารแนบท้ายอุทธรณ์หมายเลข 4 (18 แผ่น) นั้น เห็นว่า โจทก์มิได้แก้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านเอกสารดังกล่าวเป็นอย่างอื่น เอกสารนั้นเป็นแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษกับใบนัดรับใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว แต่มีชื่อตรงกับชื่อของคนต่างด้าวตามฟ้องโจทก์เพียง 4 คน เท่านั้น คือ นางยิวขาว นายแย นายวันชัย และนางซู โดยไม่ปรากฏเอกสารใดเกี่ยวกับคนต่างด้าวอีก 14 คน ว่าเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรอย่างถูกต้องหรือไม่ ดังนั้น แม้เอกสารแนบท้ายอุทธรณ์หมายเลข 4 จะรับฟังได้ว่าคนต่างด้าวจำนวน 4 คน เข้ามาในราชอาณาจักรโดยได้รับอนุญาต และขณะเกิดเหตุยังอยู่ภายในระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน ตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มีผลทำให้การกระทำของจำเลยเกี่ยวกับคนต่างด้าว 4 คน ดังกล่าวขาดองค์ประกอบความผิดตามฟ้องก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงยังคงรับฟังได้ว่าคนต่างด้าวอีก 14 คน ที่จำเลยให้ความช่วยเหลือเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ได้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย จำเลยจึงยังมีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดจึงชอบแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการต่อไปว่า สมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า การช่วยเหลือคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นการสร้างปัญหาให้แก่ประเทศชาติทั้งทางตรงและทางอ้อมหลายประการ เช่น ปัญหาด้านความมั่นคง ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสาธารณสุข ตลอดจนปัญหาสังคมในด้านต่าง ๆ การที่จำเลยให้ความช่วยเหลือคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมายเป็นจำนวนมากถึง 14 คน เพื่อให้พ้นจากการจับกุม นับเป็นต้นเหตุในการก่อให้เกิดปัญหาแก่ประเทศชาติ พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ที่จำเลยอ้างมาในฎีกาว่า จำเลยกระทำความผิดด้วยความโฉดเขลาเบาปัญญาและมีภาระต้องดูแลครอบครัวก็ไม่พอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกจำเลยหลังจากลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุก 3 เดือน และไม่รอการลงโทษจำคุกให้นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share