แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ภายหลังเกิดเหตุ มี พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในท้องที่ที่ดินที่พิพาทตั้งอยู่ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518มีผลเป็นการเพิกถอนสภาพของป่าสงวนแห่งชาติในเขตตำบลอันเป็นท้องที่เกิดเหตุตามพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 26 (4) ที่ดินที่เกิดเหตุไม่เป็นป่าสงวนแห่งชาติอีกต่อไป และถือได้ว่ามีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังยกเลิกความผิดของจำเลยทั้งสอง เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
คดีที่มีปัญหาเฉพาะข้อกฎหมาย แม้ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 222 ก็ตาม แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าป่าอันเป็นที่เกิดเหตุไม่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินนั้นยังคลาดเคลื่อนต่อความจริงตามที่ปรากฏในแผนที่แนบท้าย พ.ร.ฎ.ระบุว่าแนวเขตปฏิรูปที่ดินในแผนที่ครอบคลุมถึงที่เกิดเหตุในคดีนี้ด้วยศาลฎีกาก็ชอบที่จะวินิจฉัยข้อเท็จจริงได้เองตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน
ภายหลังเกิดเหตุได้มี พ.ร.ฎ. กำหนดให้ท้องที่ที่เกิดเหตุเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ประกอบกับ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา26(4) มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ ดังนี้ เมื่อที่ดินที่เกิดเหตุสิ้นสภาพความเป็นป่าสงวนแห่งชาติโดยผลของกฎหมายดังกล่าว แม้จำเลยทั้งสองยังคงยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุอยู่ การกระทำของจำเลยทั้งสองก็ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคสองกรณีเป็นเรื่องที่มีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยทั้งสองย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด ตาม ป.อ.มาตรา 2 วรรคสอง