คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7541/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก เป็นความผิดอันยอมความได้ตาม ป.อ. มาตรา 281 ปรากฏตามฟ้องของโจทก์ระบุว่า เหตุเกิดเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2539 และเดือนมิถุนายน 2539 ทั้งตามคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายเอกสารหมาย จ.5 ระบุว่า จำเลยข่มขืนกระทำชำเราครั้งแรกเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2539 ครั้งที่สองห่างจากครั้งแรกประมาณ 2 ถึง 3 วัน โดยให้การเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2539 ดังนี้จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องจนถึงวันที่ผู้เสียหายมาให้การต่อพนักงานสอบสวนเป็นเวลาเกิน 3 เดือนแล้ว และระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ผู้เสียหายรวมทั้งผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเลย คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 ปัญหาคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 276, 285
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก ประกอบมาตรา 285 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานข่มขืนกระทำชำเราหญิงอื่นซึ่งมิใช่ภริยาของตนและเป็นผู้อยู่ในความปกครองของตน จำคุกกระทงละ 8 ปี 2 กระทง รวมจำคุก 16 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า จำเลยมิใช่ผู้ปกครองของผู้เสียหายตามกฎหมายจึงไม่ต้องรับโทษให้หนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285 แล้ว พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก ลงโทษจำคุกกระทงละ 6 ปี รวม 2 กระทง รวมจำคุก 12 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่าจำเลยและนางสมจิตร ได้อุปการะเลี้ยงดูนางสาวสายพิณ ผู้เสียหาย ซึ่งเกิดวันที่ 15 มกราคม 2524 ตั้งแต่อายุ 2 ปีเศษ จนกระทั่งอายุ 15 ปีเศษ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2539 แพทย์หญิงเนตรนภาได้ตรวจพบว่าผู้เสียหายตั้งครรภ์เมื่อประมาณปลายเดือนมีนาคม 2539 นับถึงวันตรวจประมาณ 21 สัปดาห์ เนื่องจากมีการกล่าวหาว่าจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาหรือไม่
คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า จำเลยมิได้เป็นผู้ปกครองผู้เสียหายตามกฎหมายจึงไม่ต้องรับโทษให้หนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285 โจทก์ไม่ฎีกาจึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ว่า จำเลยมิใช่ผู้ปกครองของผู้เสียหาย แต่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก เป็นความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 281 ปรากฏตามฟ้องของโจทก์ระบุว่า เหตุเกิดเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2539 และเดือนมิถุนายน 2539 ทั้งตามคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย ระบุว่า จำเลยข่มขืนกระทำชำเราครั้งแรกเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2539 ครั้งที่สองห่างจากครั้งแรกประมาณ 2 ถึง 3 วัน โดยให้การเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2539 ประกอบกับตามคำเบิกความของพันตำรวจโทเอกลักษณ์ พนักงานสอบสวนว่า เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยเพราะเห็นว่าเป็นคดีอาญาแผ่นดิน ดังนี้จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องจนถึงวันที่ผู้เสียหายมาให้การต่อพนักงานสอบสวนเป็นเวลาเกิน 3 เดือนแล้ว และระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ผู้เสียหายรวมทั้งผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเลย คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ปัญหาคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ปัญหาตามฎีกาของจำเลยจึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share