แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำพิพากษาถึงที่สุดของศาลฎีกาซึ่งคู่ความนำสืบกล่าวอ้างรับกันว่ามีการดำเนินคดีดังกล่าวจนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษานั้น ย่อมต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวได้ โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์และเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวละครอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม และยังได้รับโอนสิทธิผลงานอุลตร้าแมนตามข้อตกลงมอบสิทธิ แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวที่โจทก์กล่าวอ้างเพื่ออาศัยเป็นเหตุฟ้องจำเลยทั้งสองได้ยุติไปตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลฎีกาว่า โจทก์มิใช่ผู้สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนตั้งแต่เริ่มแรก และข้อตกลงมอบสิทธิเป็นเอกสารปลอมทั้งฉบับ กรณีย่อมต้องถือว่าโจทก์อ้างสิทธิโดยแอบอ้างการเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์และใช้เอกสารสิทธิปลอมโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย และไม่มีอำนาจฟ้องมาตั้งแต่แรก แม้ข้อเท็จจริงนี้จะปรากฏขึ้นในชั้นพิจารณาของศาลฎีกา แต่เรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้างมาตั้งแต่ต้น ศาลฎีกาก็เห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 326 และให้จำเลยทั้งสองโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่วางจำหน่ายในประเทศไทยต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระค่าโฆษณาดังกล่าว
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 326 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงินจำนวน 10,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 ลงโทษจำคุกมีกำหนด 3 เดือน และปรับเป็นเงินจำนวน 10,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ส่วนคำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในชั้นฎีกาว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ บริษัทซึบูราญ่า โปรดัคชั่นส์ จำกัด นิติบุคคลสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งจำเลยทั้งสองนำสืบว่า เป็นผู้มอบอำนาจให้จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนของบริษัทดังกล่าวในประเทศไทยกับโจทก์ มีคดีความพิพาทกันในศาลทั้งที่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย เกี่ยวกับสิทธิในผลงานอุลตร้าแมนในประเทศไทย บริษัทซึบูราญ่า โปรดัคชั่นส์ จำกัด ฟ้องโจทก์คดีนี้กับพวกรวม 4 คน เป็นจำเลยโดยโจทก์เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้รับผิดทั้งในทางแพ่งและทางอาญา กล่าวหาว่าโจทก์กับพวกละเมิดลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนของตน โจทก์ให้การปฏิเสธและฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากบริษัทดังกล่าว โดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในผลงานอุลตร้าแมนที่พิพาทกันตามข้อตกลงมอบสิทธซึ่งบริษัทซึบูราญ่า โปรดัคชั่นส์ จำกัด อ้างว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม วันที่ 4 เมษายน 2543 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อตกลงมอบสิทธิว่าเป็นสัญญาที่นายโนโบรุ ซึบูราญ่า กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทซึบูราญ่า โปรดัคชั่นส์ จำกัด ทำให้แก่โจทก์จริง ไม่ได้เป็นเอกสารปลอม โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิตามที่ระบุไว้ทุกประการ พิพากษายกฟ้องบริษัทซึบูราญ่า โปรดัคชั่นส์ จำกัด ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา กับให้บริษัทดังกล่าวชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแย้งแก่โจทก์เป็นเงิน 12,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย บริษัทซึบูราญ่า โปรดัคชั่นส์ จำกัด และโจทก์ต่างอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวต่อศาลฎีกา ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาในคดีดังกล่าวก็เกิดเหตุคดีนี้ขึ้น และระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาในคดีนี้ ศาลฎีกาในคดีหลักดังกล่าวได้มีคำพิพากษาตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7457/2550 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2550ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้อ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ยุติในคดีดังกล่าว 2 ประการว่า ประการแรก บริษัทซึบูราญ่า โปรดัคชั่นส์ จำกัด เป็นผู้สร้างสรรค์งานภาพยนตร์และงานศิลปประยุกต์อุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ และนำออกโฆษณาเผยแพร่เป็นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่นในปี 2509 และในปีอื่น ๆ ในประเทศญี่ปุ่นสืบเนื่องกันมา บริษัทซึบูราญ่า โปรดัคชั่นส์ จำกัด จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนตามฟ้อง ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไทย เพราะประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นต่างก็เป็นภาคีของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์อนุสัญญาเดียวกันและขณะเกิดเหตุคดีดังกล่าวยังอยู่ในอายุการคุ้มครองสิทธิ โจทก์ (จำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าว) ไม่ได้ลงทุนลงแรงหรือมีส่วนร่วมทำหรือร่วมก่อให้เกิดผลงานอุลตร้าแมน คดีจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ร่วมกับบริษัทซึบูราญ่า โปรดัคชั่นส์ จำกัด สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนตั้งแต่เริ่มแรก และประการที่สอง สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเป็นเอกสารปลอมทั้งฉบับ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะแสวงหาประโยชน์ใด ๆ จากผลงานอุลตร้าแมนตามเอกสารฉบับนี้ได้ เห็นว่า เนื่องจากเป็นคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลฎีกา ซึ่งคู่ความนำสืบกล่าวอ้างรับกันว่ามีการดำเนินคดีดังกล่าวจนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษานั้น ย่อมต้องฟังข้อเท็จจริงทั้งสองประการเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวได้ โจทก์ฟ้องคดีนี้ว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์และเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวละครอุลตร้าแมนมิลเลนเนี่ยม และได้เผยแพร่โฆษณางานดังกล่าวเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2544 ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน และโจทก์นำสืบว่า นอกจากโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนร่วมกับบริษัทซึบูราญ่า โปรดัคชั่นส์ จำกัด แล้ว โจทก์ยังได้รับโอนสิทธิผลงานอุลตร้าแมนทั่วโลก ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น จากบริษัทซึบูราญ่า โปรดัคชั่นส์ จำกัด โดยไม่จำกัดเวลาตามข้อตกลงมอบสิทธิ จากบริษัทดังกล่าวอีกด้วย แต่ข้อเท็จจริงทั้งสองประการดังกล่าวที่โจทก์กล่าวอ้างเพื่ออาศัยเป็นเหตุฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้ยุติไปตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลฎีกาตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วว่า โจทก์มิใช่ผู้สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนตั้งแต่เริ่มแรก และข้อตกลงมอบสิทธิ เอกสารปลอมทั้งฉบับ กรณีย่อมต้องถือว่าโจทก์อ้างสิทธิโดยแอบอ้างการเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์และใช้เอกสารสิทธิปลอมโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย และไม่มีอำนาจฟ้องมาตั้งแต่แรก ซึ่งแม้ข้อเท็จจริงนี้จะปรากฏขึ้นในชั้นพิจารณาของศาลฎีกา แต่เรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้างมาตั้งแต่ต้น ศาลฎีกาก็เห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยในเนื้อหาตามที่โจทก์ฎีกาอีกว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทเพราะได้กระทำการโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม จึงได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน