คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 754/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 กำหนดให้ศาลพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 ดังนั้น แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นโต้เถียงในประเด็นเกี่ยวกับหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนหรือไม่ ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อเครื่องยนต์เรือไปจากโจทก์แล้วผิดสัญญาเช่าซื้อเป็นผลให้สัญญาเลิกกัน โจทก์ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในเครื่องยนต์เรือที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไป จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องส่งคืนเครื่องยนต์เรือที่เช่าซื้อ หากคืนไม่ได้จึงจะใช้ราคาดังนั้น มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยขอให้ล้มละลาย จึงเป็นมูลหนี้ส่งมอบทรัพย์สินคืน เมื่อหนี้ส่งมอบเครื่องยนต์เรือคืนยังอยู่ในสภาพที่อาจบังคับกันได้ จึงไม่แน่นอนว่าหนี้ที่จะบังคับให้ใช้ราคาแทนการส่งมอบเครื่องยนต์เรือจะมีหรือไม่หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจึงยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลายไม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อเครื่องยนต์เรือ 1 เครื่องจากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์อันเป็นการผิดสัญญา สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกไป จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องใช้ราคาทรัพย์สินที่ค้างชำระอยู่ และส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ โจทก์ติดตามทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืน จำเลยที่ 1 ไม่ยอมส่งคืนให้ กลับครอบครองและใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินนั้นตลอดมา จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดคืนทรัพย์สินที่เช่าซื้อหรือใช้ราคาแทนให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์สินใดพอที่จะชำระหนี้ได้ จำเลยทั้งสองจึงเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย
จำเลยทั้งสองให้การสู้คดี
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 14 กำหนดให้ศาลพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา9 ดังนั้นจึงเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยก่อนว่า หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา9(3) ในประเด็นนี้ แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นโต้เถียงเป็นประเด็นขึ้นมาก็ตาม แต่กฎหมายกำหนดให้ศาลพิจารณาเอาความจริง ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ และเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเช่าซื้อเครื่องยนต์เรือไปจากโจทก์ แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาถึง 4 งวด สัญญาจึงเลิกกัน หลังจากนั้นโจทก์ได้ติดตามทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่นำพาต่อการส่งมอบคืน กลับครอบครองและใช้ประโยชน์ตลอดมา ดังนั้นจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อจึงมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์สินที่เช่าซื้อในสภาพสมบูรณ์หรือมิฉะนั้นต้องชดใช้ราคาทรัพย์สินที่เช่าซื้อเป็นเงิน 3,318,750บาท แก่โจทก์ จากคำฟ้องดังกล่าว มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยขอให้ล้มละลาย จึงเป็นมูลหนี้ส่งมอบทรัพย์สินคืน กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อเครื่องยนต์เรือไปจากโจทก์ผิดสัญญาเช่าซื้อและสัญญาเลิกกัน โจทก์ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในเครื่องยนต์เรือที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไป มีสิทธิติดตามเอาคืนจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องส่งคืนเครื่องยนต์เรือดังกล่าว หากคืนไม่ได้จึงจะใช้ราคา เมื่อความปรากฏจากคำฟ้องนั้นเองว่า จำเลยที่1 ยังครอบครองและใช้ประโยชน์เครื่องยนต์เรืออยู่ แสดงว่าเครื่องยนต์เรือยังคงมีอยู่และอยู่ในสภาพที่สามารถบังคับให้จำเลยที่ 1 คืนเครื่องยนต์เรือได้ แม้โจทก์จะนำสืบว่าได้ติดตามเพื่อยึดเครื่องยนต์เรือคืน แต่จำเลยมีเรือหลายลำ ไม่ทราบว่าเครื่องยนต์เรือที่เช่าซื้ออยู่ในเรือลำใด จึงไม่สามารถยึดคืนได้ ก็หาใช่ว่าการคืนเครื่องยนต์เรือไม่สามารถกระทำได้จนต้องบังคับให้ใช้ราคาแทนอย่างเดียวไม่ โจทก์ย่อมฟ้องร้องโดยอาศัยอำนาจศาลบังคับให้จำเลยที่ 1 คืนเครื่องยนต์เรือดังกล่าวแล้วได้ และหากบังคับกันได้เช่นนี้หนี้ค่าเครื่องยนต์เรือจำนวน 3,318,750 บาท ก็ไม่ใช่หนี้ที่จะบังคับเอาแก่จำเลยที่ 1 ได้อีก ทั้งโจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่ามีหนี้จำนวนอื่นที่จะเรียกร้องกันได้นอกเหนือจากค่าเครื่องยนต์เรือ คงมีแต่หนี้ค่าเครื่องยนต์เรือ หากคืนไม่ได้จึงให้ใช้ราคาเท่านั้น ฉะนั้นเมื่อหนี้ส่งมอบเครื่องยนต์เรือคืนยังอยู่ในสภาพที่อาจบังคับกันได้ จึงไม่แน่นอนว่าหนี้ที่จะบังคับให้ใช้ราคาแทนการส่งมอบเครื่องยนต์เรือจะมีหรือไม่ หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจึงยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลายไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ขอให้ยกฟ้องฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share