คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7536/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ส่งจำเลยไปรับการฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มีกำหนดตั้งแต่ 2 ปี ถึง 3 ปี ขณะเกิดเหตุเมื่อปี 2539 จำเลยอายุ 14 ปี แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยอายุ 19 ปี ซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 74 (5) บัญญัติว่าเด็กอายุกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่เกินสิบสี่ปีกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็กตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่อย่าให้เกินกว่าที่เด็กนั้นจะมีอายุครบสิบแปดปี เมื่อความปรากฏแก่ศาลฎีกาว่า จำเลยอายุเกิน 18 ปี แล้ว จึงไม่อาจส่งจำเลยไปรับการฝึกและอบรมตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองได้ ถือว่าเป็นกรณีที่พฤติการณ์เกี่ยวกับคำสั่งเดิมเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกามีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งเดิมได้ ตามป.อ. มาตรา 74 วรรคท้าย เป็นให้มารดาจำเลยรับตัวจำเลยไปอบรมสั่งสอนและดูแลระมัดระวังมิให้จำเลยก่อเหตุร้ายหรือกระทำผิดอาญาใด ๆ ขึ้นอีกภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟังได้ มิฉะนั้นศาลจะปรับครั้งละ 500 บาทตาม ป.อ. มาตรา 74 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ , ๒๘๙ , ๑๓๘ , ๘๓ , ๘๐ , ๙๑ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ , ๗ , ๘ , ๑๕ , ๕๗ , ๖๖ , ๙๑ , ๑๐๒ ริบของกลาง เว้นแต่ธนบัตรของกลางที่ใช้ล่อซื้อคืนเจ้าของ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างสืบพยานจำเลย จำเลยที่ ๑ ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๑ ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๒) ประกอบมาตรา ๘๐ , ๑๓๘ วรรคหนึ่ง จำเลยที่ ๒ อายุ ๑๔ ปี จึงไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๔ แต่ให้ส่งจำเลยที่ ๒ ไปรับการฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครสวรรค์ มีกำหนดตั้งแต่ ๒ ปี ถึง ๓ ปี ริบของกลาง เว้นแต่ธนบัตรของกลางที่ใช้ล่อซื้อคืนเจ้าของ
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๖ อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒ กระทำผิดตามฟ้อง แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ส่งจำเลยที่ ๒ ไปรับการฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครสวรรค์ มีกำหนดตั้งแต่ ๒ ปี ถึง ๓ ปี นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ขณะเกิดเหตุเมื่อปี ๒๕๓๙ จำเลยที่ ๒ อายุ ๑๔ ปี แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ ๒ อายุ ๑๙ ปีแล้ว ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๔ บัญญัติว่า เด็กอายุกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่เกินสิบสี่ปีกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้… (๕) “ส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็กตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่อย่าให้เกินกว่าที่เด็กนั้นจะมีอายุครบสิบแปดปี” ดังนั้น เมื่อความปรากฏแก่ศาลฎีกาเองว่า จำเลยที่ ๒ อายุเกิน ๑๘ ปีแล้ว จึงไม่อาจส่งจำเลยที่ ๒ ไปรับการฝึกและอบรมตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองได้ ถือว่าเป็นกรณีที่พฤติการณ์เกี่ยวกับคำสั่งเดิมเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ศาลฎีกามีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งเดิมได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๔ วรรคท้าย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้มารดาจำเลยที่ ๒ รับตัวจำเลยที่ ๒ ไปอบรมสั่งสอนและดูแลระมัดระวังมิให้จำเลยที่ ๒ ก่อเหตุร้ายหรือกระทำความผิดอาญาใด ๆ ขึ้นอีกภายในกำหนด ๑ ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ ๒ ฟัง มิฉะนั้นศาลจะปรับครั้งละ ๕๐๐ บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๔ (๒).

Share