แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สามีจำเลยกู้เงินโจทก์ จำเลยลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ ถือว่าจำเลยได้ให้สัตยาบันในการทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว หนี้กู้ยืมเงินจึงเป็นหนี้ร่วมของสามีจำเลยและจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ย่อมมีอำนาจฟ้องลูกหนี้ทุกคนพร้อมกันให้ชำระหนี้เป็นส่วนๆ หรือจะฟ้องลูกหนี้ทีละคนจนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นจำเลยในคดีก่อนให้ร่วมกับสามีชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ด้วย จำเลยคดีนี้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นคู่ความเดียวกันกับจำเลยในคดีก่อน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
คดีก่อนโจทก์นำสัญญากู้ยืมฟ้องสามีจำเลยให้ชำระหนี้เงินกู้ โจทก์กับสามีจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลมีคำพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุด ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้สิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงินสิ้นสุดไป โจทก์ถือสิทธิใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 การที่สามีจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ จำเลยไม่ได้ร่วมทำสัญญาด้วย จึงไม่มีผลผูกพันจำเลย เมื่อจำเลยไม่ใช่คู่สัญญาในสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญากับโจทก์ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมไม่ผูกพันจำเลยเพราะไม่ใช่คู่ความในคดีดังกล่าว โจทก์ไม่สามารถนำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวมาฟ้องจำเลยให้รับผิดได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจที่จะยกขึ้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ 264 และ 247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 510,370 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 460,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 98/2551 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า เมื่อสามีจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวโดยมีจำเลยซึ่งเป็นภริยาลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญา และจำเลยรับในคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยว่าได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวในฐานะพยานจริง จึงถือได้ว่าจำเลยได้ให้สัตยาบันในการทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว หนี้กู้ยืมเงินตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจึงเป็นหนี้ร่วมของสามีจำเลยและจำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 (4) โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องลูกหนี้ทุกคนพร้อมกันให้ลูกหนี้ชำระหนี้เป็นส่วน ๆ หรือจะฟ้องลูกหนี้ทีละคนจนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 คดีก่อนโจทก์ฟ้องสามีจำเลยให้ชำระหนี้กู้ยืมเงินตามคดีหมายเลขคดีแดงที่ 98/2551 ของศาลชั้นต้น โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นจำเลยในคดีดังกล่าวด้วย สามีจำเลยซึ่งเป็นจำเลยในคดีก่อนกับจำเลยคดีนี้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นคู่ความเดียวกัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 98/2551 ของศาลชั้นต้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นฟ้องซ้ำ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ในคดีก่อนโจทก์ฟ้องสามีจำเลยให้ชำระหนี้กู้ยืมเงินตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว ต่อมาโจทก์กับสามีจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวของโจทก์นั้นระงับสิ้นไป โดยโจทก์ได้ถือสิทธิใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 การที่สามีจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์โดยจำเลยไม่ได้ร่วมด้วย สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลย ประกอบกับจำเลยไม่ใช่คู่สัญญาในสัญญาประนีประนอมยอมความจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญากับโจทก์ และคำพิพากษาตามยอมตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็ไม่ผูกพันจำเลยเพราะไม่ใช่คู่ความในคดีดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธินำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยรับผิดได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นมาเลย ศาลฎีกามีอำนาจที่จะยกขึ้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ