แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏไว้กับโจทก์ สาขาบางขุนเทียน โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาวันที่ 10 มกราคม 2535 จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ธนาคารโจทก์ สาขาบางขุนเทียน ได้ทำหนังสือไปถึงธนาคารโจทก์ สาขาพัทลุง ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2538 แจ้งว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายแล้ว ขอให้ธนาคารโจทก์ สาขาพัทลุง ช่วยคัดสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยที่ 1 เพื่อที่จะดำเนินคดีแก่ทายาทของจำเลยที่ 1 ต่อไป แสดงให้เห็นว่า ธนาคารโจทก์ สาขาบางขุนเทียน ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของโจทก์ทราบแล้วว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย จึงถือได้ว่าอย่างช้าในวันที่ 3 ตุลาคม 2538 โจทก์รู้แล้วว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทราบการตายของจำเลยที่ 1 ในขณะยื่นฟ้องคือวันที่ 11 ธันวาคม 2540 นั้น เป็นการวินิจฉัยผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวน ผิดต่อกฎหมาย ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 238 , 243 (3) ประกอบมาตรา 247 การที่โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องต่อกองมรดกของจำเลยที่ 1 นับแต่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมภายในอายุความ 1 ปี สิทธิเรียกร้องต่อกองมรดกของจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันย่อมยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นอ้างได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 694 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 85,102.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ของต้นเงิน 40,769.79 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายก่อนฟ้องคดี ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 40,769.79 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีออมทรัพย์ไว้กับโจทก์ สาขาบางขุนเทียน เพื่อให้กระทรวงยุติธรรม ที่จำเลยที่ 1 รับราชการอยู่ในสังกัดโอนเงินเดือนเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2532 จำเลยที่ 1 ขอใช้บริการสินเชื่อกรุงไทยธนวัฏและทำสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏไว้กับโจทก์สาขาบางขุนเทียนเพื่อเบิกเงินเกินบัญชีจากบัญชีออมทรัพย์เป็นเงิน 63,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันกรุงไทยธนวัฏไว้กับโจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากนั้นกระทรวงยุติธรรมได้โอนเงินเดือนและผลประโยชน์พึงได้ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเข้าบัญชีออมทรัพย์ดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้เบิกถอนเงินจากบัญชีด้วยตนเองและใช้บัตรกรุงไทย เอ. ที. เอ็ม. ถอนเงินจากเครื่องอัตโนมัติ ต่อมากระทรวงยุติธรรมไม่มีการโอนเงินเดือนหรือเงินผลประโยชน์อื่นใดเข้าบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยที่ 1 วันที่ 3 ธันวาคม 2534 จำเลยที่ 1 มียอดค้างชำระโจทก์เป็นต้นเงิน 40,769.79 บาท ในวันที่ 10 มกราคม 2535 จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2540 ทนายโจทก์ยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นพร้อมกับแนบสำเนาเอกสารท้ายคำแถลงซึ่งเป็นหนังสือของธนาคารโจทก์ สาขาบางขุนเทียน ที่จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีไว้ มีไปถึงธนาคารโจทก์ สาขาพัทลุง ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2538 โดยมีข้อความระบุไว้ใจความว่า โจทก์ได้อนุมัติให้ธนาคารโจทก์ สาขาบางขุนเทียน ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และธนาคารโจทก์ สาขาบางขุนเทียน ได้มอบหมายให้ทนายความดำเนินการแล้ว แต่จากการสืบทราบของทนายความปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้ถึงแก่ความตายแล้ว จึงขอให้ธนาคารโจทก์ สาขาพัทลุง ช่วยคัดสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยที่ 1 เพื่อที่จะดำเนินคดีแก่ทายาทของจำเลยที่ 1 ต่อไป จากข้อความในหนังสือดังกล่าวแสดงว่า ธนาคารโจทก์ สาขาบางขุนเทียน ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของโจทก์ทราบว่า จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายแล้ว จึงให้ธนาคารโจทก์ สาขาพัทลุง ตรวจสอบหาทายาทของจำเลยที่ 1 จากทะเบียนบ้าน จึงถือได้ว่าอย่างช้าในวันที่ 3 ตุลาคม 2538 โจทก์รู้แล้วว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทราบการตายของจำเลยที่ 1 ในขณะยื่นฟ้องนั้น เป็นการวินิจฉัยผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวนผิดต่อกฎหมาย ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 238 , 243 (3) ประกอบมาตรา 247 เป็นว่า โจทก์รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของจำเลยที่ 1 เจ้ามรดกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2538 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง วันที่ 11 ธันวาคม 2540 จึงเป็นกรณีที่โจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องต่อกองมรดกของจำเลยที่ 1 นับแต่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ภายในอายุความ 1 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อกองมรดกของจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ฉะนั้นที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ย่อมยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นอ้างได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 694 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.