แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายกับการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมีลักษณะของการกระทำแตกต่างกันเป็นการกระทำต่างขั้นตอนกันสามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากจากกันได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 1 ก็มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายกระทงหนึ่งแล้วครั้นจำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวที่มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายไปบางส่วนให้แก่ผู้มีชื่อ จำเลยที่ 1มีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนอีกกระทงหนึ่ง
ปัญหาว่าการที่จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนจำนวน303 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายไป 3 เม็ดเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน หรือการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาในชั้นอุทธรณ์แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 1 จึงยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 83, 91 และ ริบเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์และกระบอกไม้ไผ่
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง(ที่ถูก และมาตรา 102) อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก10 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี รวมเป็นจำคุก 15 ปีจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน ริบของกลาง ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า การที่จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 303 เม็ดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและได้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 3 เม็ด ให้แก่ผู้มีชื่อไป การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันหรือเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลอุทธรณ์ภาค 4 แต่กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 1 จึงยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225 ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้ และเห็นว่า การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายกับการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนลักษณะของการกระทำแตกต่างกันเป็นการกระทำต่างขั้นตอนกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากจากกันได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 1 ก็มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายกระทงหนึ่งแล้ว ครั้นจำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวที่มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายไปบางส่วนให้แก่ผู้มีชื่อ จำเลยที่ 1 ก็มีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนอีกกระทงหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมิได้เป็นความผิดกรรมเดียวดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้วฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่า พยานโจทก์ทุกปากเบิกความต่อศาลไม่ถูกต้องตรงกันในสาระสำคัญถึงลักษณะสีของเม็ดยาว่าเป็นสีส้ม สีเขียวหรือสีชมพู และสีของกระบอกไม้ไผ่ที่บรรจุของกลางรวมทั้งสถานที่ซุกซ่อนกระบอกไม้ไผ่จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 1 รวมทั้งการขอให้ศาลฎีกาใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยที่ 1ในสถานเบานั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนตามศาลล่างและให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในแต่ละกระทงความผิดกระทงละไม่เกินห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและการกำหนดโทษจำเลยที่ 1 เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยปัญหานี้”
พิพากษายืน