คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 753/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อที่จำเลยยกขึ้นฎีกาว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า เลื่อยโซ่ยนต์เป็นของต้องห้ามต้องจำกัดตามประกาศของกระทรวงใด ฉบับที่หรือพ.ศ. อะไร จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 158 นั้นเป็นรายละเอียดที่โจทก์ต้องนำสืบในชั้นพิจารณา และคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ แสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ประกอบกับคดีไม่จำต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจจะพิจารณาพิพากษาได้คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ไม่ใช่มาตราในกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) ดังนั้นเมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายฟ้องมาเป็นข้อ ๆ และระบุการกระทำของจำเลยเป็นหลายกรรม แม้ไม่ได้ระบุมาตรา 91มาในคำขอท้ายฟ้อง ศาลก็ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2540 เวลากลางวันจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันรับไว้ ช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไป ซื้อหรือรับจำนำเลื่อยโซ่ยนต์สติลหมายเลข 112996664 จำนวน 1 เครื่องราคา 5,000 บาท ค่าภาษีอากรรวม 1,955 บาท อันเป็นของต้องห้ามต้องจำกัดจากต่างประเทศ ทั้งยังมิได้ผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้องตามกฎหมาย ก่อนเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งนี้จำเลยทั้งสี่รู้ว่าเลื่อยโซ่ยนต์เครื่องดังกล่าวเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้ามข้อจำกัด และจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันเข้าไปทำไม้มะค่าโมงซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. โดยร่วมกันใช้เลื่อยโซ่ยนต์ดังกล่าว เลื่อย เจาะและแปรรูปไม้อยู่ในป่าเขตท้องที่บ้านผาสะนา ซึ่งเป็นเขตควบคุมการแปรรูปไม้และในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงซำทอง ป่าดงหนองไผ่ และป่าดงผาสามยอดทำให้เสื่อมเสียสภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยจำเลยทั้งสี่ไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และมิได้รับยกเว้นตามกฎหมายเจ้าพนักงานจับกุมตัวจำเลยทั้งสี่พร้อมยึดไม้มะค่าโมงแปรรูปจำนวน 6 แผ่น ปริมาตร 0.04 ลูกบาศก์เมตร เลื่อยโซ่ยนต์จำนวน 1 เครื่องเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 11, 48, 54, 73, 74, 74 ทวิ,74 จัตวา พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 14, 31,34, 35 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และริบของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง,31 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้เรียงกระทงลงโทษเฉพาะฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษบทหนักตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ จำคุกคนละ 1 ปีฐานรับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์โดยรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ปรับคนละ 27,820 บาทจำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 6 เดือนและปรับคนละ 13,910 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดฐานรับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์โดยรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรหลีกเลี่ยงอากรให้ปรับจำเลยทั้งสี่รวมกัน 27,820 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงปรับจำเลยทั้งสี่รวมกัน 13,910 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายข้อแรกของจำเลยที่ 2 ว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าเลื่อยโซ่ยนต์เป็นของต้องห้ามต้องจำกัดตามประกาศของกระทรวงใดฉบับที่หรือ พ.ศ. อะไร จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 นั้น เห็นว่า คดีนี้ข้อที่จำเลยที่ 2 อ้างมาในฎีกานั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158 ไม่ได้บัญญัติให้อ้างในคำฟ้องจึงเป็นรายละเอียดที่ต้องนำสืบในชั้นพิจารณา เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพแสดงว่าจำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว และคดีไม่จำต้องสืบพยานประกอบศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจจะพิจารณาพิพากษาได้ คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ต่อไปว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่ในท้ายคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยทั้งสี่เป็นหลายกรรมนั้น จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 นั้นเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ไม่ใช่มาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 มิได้ระบุให้โจทก์ต้องอ้างด้วย ดังนั้น เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายฟ้องมาเป็นข้อ ๆ และระบุการกระทำของจำเลยเป็นหลายกรรมแม้ไม่ได้ระบุมาตรา 91 มาในคำขอท้ายฟ้อง ศาลก็ลงโทษจำเลยทั้งสี่ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดได้
พิพากษายืน

Share