คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7529/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทมีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินออกในชื่อโจทก์ โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นเจ้าของและผู้มีสิทธิครอบครองด้วย
แม้โจทก์จะมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินก็ตาม แต่โจทก์ยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ที่จำเลยอ้าง ปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นสิทธิของโจทก์หรือของจำเลย จึงต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองก่อนที่จะมีการออกโฉนดที่ดิน เมื่อพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยมีน้ำหนักมากกว่า เชื่อได้ว่าจำเลยครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาทตลอดมา ที่ดินพิพาทจึงเป็นสิทธิของจำเลย
เจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินพิพาทในชื่อโจทก์เพราะเข้าใจผิดหลงว่าโจทก์มีสิทธิ เป็นการออกให้โดยไม่ชอบจึงต้องพิพากษาให้เพิกถอน ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ไปจดทะเบียนโอนชื่อในโฉนดที่ดิน หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ เป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท และให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าแก่โจทก์ปีละ 5,000 บาท นับแต่ปี 2539 จนกว่าจำเลยทั้งสองจะออกจากที่ดินพิพาท
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท ซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของจากสารบบทะเบียนที่ดิน หากไม่อาจทำได้ให้โจทก์ไปจดทะเบียนโอนเป็นชื่อของจำเลยทั้งสอง หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์
โจทก์ให้การขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นสิทธิของจำเลยทั้งสอง ให้ยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ไปจดทะเบียนโอนชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลยทั้งสอง หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทมีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินออกในชื่อโจทก์ ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ที่ดินพิพาทเป็นสิทธิของโจทก์หรือของจำเลยทั้งสอง เห็นว่า โจทก์ซึ่งมีชื่อในโฉนดที่ดินย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นเจ้าของและผู้มีสิทธิครอบครองด้วย แต่จำเลยทั้งสองนำสืบอ้างว่า ครอบครองที่ดินพิพาท โดยขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกต้นไม้ ปลูกบ้านพักอยู่ในที่ดินตลอดมา การออกโฉนดที่ดินของโจทก์ไม่ชอบเพราะออกทับที่ดินของจำเลยทั้งสอง ที่ดินเดิมมีหลักฐานเป็นแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เลขที่ 558/98 เป็นของนายจันทา ปุยฝ้าย นายจันทาถึงแก่กรรมในปี 2502 บุตรนายจันทา 4 คน ได้แบ่งแยกครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัด โดยด้านทิศเหนือนายชารีบิดาโจทก์กับนางปราณีเป็นผู้ครอบครองด้านทิศใต้ คือที่ดินพิพาทนางอิ่นมารดาจำเลยที่ 1 กับนางอรพันธ์มารดาจำเลยที่ 2 ครอบครองมีเส้นแบ่งที่ดินจากด้านทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก บัญชีเครือญาตินายจันทา ปี 2534 นางอิ่นมอบที่ดินให้จำเลยที่ 1 ครอบครองทำกิน จำเลยที่ 1 ขุดบ่อเลี้ยงปลาจำนวน 21 บ่อ ปลูกต้นไม้ ปลูกบ้านพัก 1 หลัง จำเลยที่ 2 รับมอบการครอบครองตั้งแต่ ปี 2530 ขุดบ่อเลี้ยงปลา 17 บ่อ ปลูกบ้านพัก 1 หลัง โรงเรือนสำหรับฝึกลูกปลา 1 หลัง ปี 2519 โจทก์กับบิดาโจทก์ลักลอบนำแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) โดยใส่ชื่อโจทก์ซึ่งอายุเพียง 12 ปี ขณะนั้นมารดาจำเลยที่ 1 กับมารดาจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครองครองที่ดิน และออกโฉนดที่ดินปี 2538 ขณะจำเลยทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ เห็นว่า แม้โจทก์จะมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินก็ตาม แต่ก็ยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ที่จำเลยทั้งสองอ้าง นายชารี บิดาโจทก์เบิกความว่า บิดาพยานคือนายจันทายกที่ดินให้ก่อนถึงแก่กรรม แต่นายชารีก็ไม่มีหลักฐานแสดงการยกที่ดินให้ ตามบัญชีเครือญาตินายจันทามีบุตรทั้งหมด 4 คน ไม่มีเหตุผลแต่ประการใดที่จะยกที่ดินให้นายชารีเพียงคนเดียว ซึ่งนางอรพันธ์ มารดาจำเลยที่ 2 เบิกความว่า ไม่มีการยกที่ดินให้ เพียงแต่นายชารีเก็บแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ไว้ แล้วนำไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เป็นชื่อโจทก์ ขณะนั้นโจทก์อายุเพียง 12 ปี เท่านั้น พยานกับนางอิ่น ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา ส่วนโจทก์นำสืบอ้างว่า ให้จำเลยทั้งสองเช่าที่ดินพิพาทค่าเช่าปีละ 5,000 บาท มีกำหนด 3 ปี แต่โจทก์ไม่มีหลักฐานแสดงการเช่า มีแต่พยานบุคคลซึ่งกล่าวอ้างลอย ๆ ว่าให้เช่า นอกจากนั้นยังเบิกความว่า ให้จำเลยทั้งสองเช่าคนละ 5,000 บาท ต่อปี อันเป็นการแตกต่างจากคำฟ้อง และในหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินที่ระบุว่าจำเลยทั้งสองขอเข้าอาศัยทำกิน ฉะนั้นพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่านายจันทาได้ยกที่ดินพิพาทให้นายชารีบิดาโจทก์ และฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ ปัญหาว่าที่ดินพิพาทสิทธิเป็นของโจทก์หรือของจำเลยทั้งสอง จึงต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองก่อนที่จะมีการออกโฉนดที่ดิน จำเลยทั้งสองกับมารดาจำเลยทั้งสองเบิกความยืนยันการเข้าครอบครองและทำประโยชน์ ซึ่งนายไพจิตร ผิวขาว กำนันตำบลเหล่าหลวง (ที่ดินพิพาทตั้งอยู่) เบิกความว่า เดิมพยานเป็นผู้ใหญ่บ้านนานสิบกว่าปี เป็นกำนันปี 2538 รู้จักที่ดินพิพาทซึ่งเดิมเป็นของนายจันทา ต่อมาบุตร 4 คน แบ่งการครอบครองเป็น 2 ส่วน ส่วนด้านทิศใต้นางอิ่นกับนางอรพันธ์เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ นางอิ่นถึงแก่กรรมปี 2539 ได้ให้จำเลยที่ 1 ทำประโยชน์แทน นางอรพันธ์ให้จำเลยที่ 2 เข้าครอบครองทำประโยชน์ ปี 2539 จำเลยที่ 2 ไปตามให้ไปรับทราบการเจรจาเกี่ยวกับที่ดินพิพาท มีญาติพี่น้องทั้งสองฝ่ายไปรับฟังจำนวนมาก เจรจาพูดคุยที่บ้านนายชารีมีอยู่ 3 ประเด็น คือ 1. เรื่องที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองทำแนวคันดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของบิดาโจทก์ 2. ให้จำเลยทั้งสองทำแนวแบ่งเขตที่ดินมา 2 ปีแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ทำ โจทก์จึงถือว่าที่ดินเป็นของโจทก์คนเดียว 3. ให้จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาท มิฉะนั้นโจทก์จะฟ้องขับไล่ พยานได้ไกล่เกลี่ยอยู่นานขอให้โจทก์ให้เวลาจำเลยทั้งสองทำคันดินเป็นแนวเขต แต่โจทก์ไม่ยินยอม พยานปากนายไพจิตรเป็นกำนันไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และยังเป็นผู้ไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท คำพยานมีน้ำหนักน่าเชื่อ โดยเฉพาะนายไพจิตรยืนยันว่าจำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา ไม่เคยเห็นโจทก์ครอบครองเพราะโจทก์ไปทำงานต่างจังหวัดไม่ได้อยู่ในหมู่บ้าน นาน ๆ จะมาสักครั้งหนึ่ง นายชารีเองเบิกความตอบคำถามค้านว่า ไม่ทราบว่าในที่ดินมีบ่อปลากี่บ่อ ส่วนตัวโจทก์ตามสำเนาทะเบียนบ้านเพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ในปี 2538 และมีการแจ้งย้ายออกเมื่อปี 2540 ฉะนั้นพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยทั้งสองจึงมีน้ำหนักมากกว่า เชื่อว่าจำเลยทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาทตลอดมา ที่ดินพิพาทเป็นสิทธิของจำเลยทั้งสอง ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ไปจดทะเบียนโอนชื่อในโฉนดที่ดินเลขที่ 21037… เป็นชื่อของจำเลยทั้งสอง หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์นั้น เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อโฉนดที่ดินที่โจทก์ขอออกดังกล่าว เจ้าพนักงานที่ดินได้ออกไปเพราะเข้าใจผิดหลงว่าโจทก์มีสิทธิ เป็นการออกให้โดยไม่ชอบจึงต้องเพิกถอน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 21037 ยกคำขอของจำเลยทั้งสองที่ขอให้โจทก์ไปจดทะเบียนโอนชื่อในโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นชื่อของจำเลยทั้งสอง หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์เสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4.

Share