คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 431/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์กรอกข้อความลงในสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันที่จำเลยลงลายมือชื่อ แต่ยังไม่ได้กรอกข้อความอื่นใดว่าได้มีการกู้ยืมเงินและค้ำประกันในจำนวนเงินถึง 100,000 บาท เกินกว่าจำนวนหนี้ที่เป็นจริงโดยจำเลยทั้งสองมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันจึงไม่สมบูรณ์ ทำให้เอกสารนั้นเป็นเอกสารปลอม โจทก์จึงอ้างเอกสารนั้นมาเป็นพยานหลักฐานในคดีอย่างใดไม่ได้ ฉะนั้น การกู้เงินและการค้ำประกันที่ฟ้องจึงถือว่าไม่มีพยานหลักฐานเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 และมาตรา 680

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 100,000 บาทจากโจทก์ ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตกลงชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทุกเดือนไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้ไปครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากทำสัญญาจำเลยที่ 1 ไม่เคยชำระดอกเบี้ยและต้นเงินให้แก่โจทก์เลย โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันทำสัญญากู้ยืมเงินถึงวันฟ้องรวม 119,560 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 100,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 และที่ 2ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันนั้นเอกสารดังกล่าวยังไม่มีการกรอกข้อความในช่องจำนวนเงินที่ขอกู้ยืมไป แต่โจทก์กรอกข้อความเป็นตัวหนังสือคำว่า “หนึ่งแสนบาท” และตัวเลข “100,000” ลงในช่องจำนวนเงินในสัญญาดังกล่าวในภายหลังโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ความจริงแล้ว จำเลยที่ 1 ขอกู้ยืมเงินโจทก์ไปเพียง20,000 บาท จำเลยที่ 2 ก็มีความประสงค์ที่จะค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ภายในวงเงิน 20,000 บาท เท่านั้น สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันตามฟ้องเป็นเอกสารปลอม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน100,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 9กุมภาพันธ์ 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง(วันที่ 18 กันยายน 2540) ให้ไม่เกิน 19,460 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนจนครบ

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 โดยมีจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้ค้ำประกันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้เอกสารหมาย จ.2 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันหรือไม่ เพียงใดโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์มีอาชีพจำหน่ายทองรูปพรรณโดยมีร้านชื่อห้างทองจารุชัย โจทก์รู้จักจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 เป็นลูกค้าของโจทก์ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยที่ 2 ได้พาจำเลยที่ 1 มาติดต่อขอกู้ยืมเงินจากโจทก์ 100,000 บาท โจทก์ตกลงให้กู้ จำเลยที่ 1 ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกเดือน ส่วนต้นเงินนั้นไม่ได้กำหนดเวลาชำระคืนไว้ จำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้ไปในวันทำสัญญาครบถ้วนแล้ว ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 ในการนี้มีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้เอกสารหมาย จ.2 หลังจากจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ไปจำเลยที่ 1 ไม่เคยชำระดอกเบี้ยและต้นเงินแก่โจทก์ ส่วนจำเลยทั้งสองเบิกความต่อสู้ทำนองเดียวกันว่าเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยที่ 2 ได้พาจำเลยที่ 1ไปที่ร้านโจทก์พบมารดาโจทก์กับโจทก์ จำเลยที่ 1 ขอกู้ยืมเงินจำนวน 20,000บาท โดยได้นำโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละห้าต่อเดือน หรือเดือนละ 1,000 บาท ชำระทุกเดือนโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ให้โดยขณะนั้นยังไม่มีการกรอกข้อความใด ๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากมารดาโจทก์บอกว่าขอให้ไว้ใจไม่มีการโกงกันและโจทก์ยังให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในช่องผู้ค้ำประกันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้เอกสารหมาย จ.2 ซึ่งยังไม่มีการกรอกข้อความใด ๆทั้งสิ้นเช่นเดียวกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เป็นเงินรวม 9,000บาท แล้วไม่ได้ชำระหนี้เงินกู้ให้โจทก์อีกเลย ดังนี้ เห็นว่าโจทก์มีเพียงลำพังโจทก์เพียงปากเดียวเท่านั้นที่มาเบิกความต่อศาล ส่วนฝ่ายจำเลยทั้งสองก็คงมีจำเลยทั้งสองเท่านั้นที่มาเบิกความต่อศาล และก็ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองเบิกความยันกันปากต่อปากยากที่จะฟังว่าฝ่ายใดเบิกความเป็นความจริงเมื่อจำเลยทั้งสองต่างให้การอ้างว่าโจทก์ให้จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันโดยยังไม่ได้กรอกข้อความ ซึ่งโจทก์ทราบแล้วและโจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านยอมรับว่าในการทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 นั้น นอกจากโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 รู้เห็นในการทำสัญญาแล้วยังมีมารดาโจทก์คือนางสุพัตรา จิรกวินสถิตกุล รู้เห็นด้วยนางสุพัตราเห็นเหตุการณ์ในขณะที่โจทก์กรอกข้อความในสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ตลอดจนเห็นจำเลยที่ 1รับเงินกู้จำนวน 100,000 บาท ไปจากโจทก์ด้วย ดังนั้น นางสุพัตรามารดาโจทก์จึงเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวที่เห็นโจทก์กรอกข้อความในสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ในวันที่จำเลยที่ 1 มาขอกู้เงินจากโจทก์และเห็นจำเลยที่ 1 รับเงินกู้จำนวน100,000 บาท ไปจากโจทก์ หากว่าเป็นความจริงดังโจทก์อ้าง โจทก์ก็น่าจะอ้างนางสุพัตรามารดาโจทก์มาเป็นพยานให้โจทก์เพื่อสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ในการที่จะให้ศาลเชื่อว่าเป็นความจริงดังโจทก์อ้าง แต่กลับปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้นำนางสุพัตรามารดาโจทก์มาเป็นพยานให้โจทก์จึงเป็นพิรุธอย่างยิ่งและจากการเปรียบเทียบสีหมึกที่กรอกในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 และหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้เอกสารหมาย จ.2 แล้วเห็นว่าสีหมึกแตกต่างไม่เหมือนกัน หากโจทก์กรอกข้อความในวันเดียวกันต่อเนื่องกันสีหมึกก็น่าจะเหมือนกันทั้งสองสัญญา ส่วนโฉนดที่ดินจำนวนเนื้อที่ 2 งาน 11 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 นำมามอบให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันการกู้ยืมเงินนั้นก็ปรากฏว่ามีราคาที่ดินประเมินไร่ละ 10,000 บาท ส่วนสิ่งปลูกสร้างไม่ทราบราคาซึ่งคิดคำนวณหลักประกันแล้วมีราคาต่ำกว่าเงินกู้ 100,000 บาท มาก การที่โจทก์ซึ่งมีอาชีพค้าขายทองแล้วยังประกอบธุรกิจปล่อยเงินกู้ด้วย ยอมรับหลักประกันเช่นนี้ ย่อมเป็นการผิดปกติวิสัยของผู้ประกอบธุรกิจปล่อยเงินกู้อย่างโจทก์ ส่วนพยานของจำเลยทั้งสองเบิกความสอดคล้องต้องกันมีเหตุผลเมื่อเปรียบเทียบชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานโจทก์และพยานหลักฐานจำเลยทั้งสองแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์ไป 20,000 บาท จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันได้ลงลายมือชื่อไว้ในแบบพิมพ์สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันที่ยังไม่ได้กรอกข้อความอื่นใดเลยมอบให้แก่โจทก์ไว้ต่อมาโจทก์ได้กรอกข้อความและจำนวนเงินลงในเอกสารสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ไป 100,000 บาท และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้จำนวนดังกล่าว ซึ่งเป็นยอดเงินที่เกินไปกว่าจำนวนเงินที่ได้กู้และค้ำประกันไว้ ดังนี้ ข้อเท็จจริงที่ได้ความจึงสมตามข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองที่ปฏิเสธความถูกต้องแท้จริงแห่งเอกสารที่โจทก์อ้างเป็นพยานหลักฐานมาฟ้องจำเลยทั้งสองคือ การที่โจทก์กรอกข้อความลงในสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันว่าได้มีการกู้ยืมเงินและค้ำประกันในจำนวนเงินถึง 100,000 บาท เกินกว่าจำนวนหนี้ที่เป็นจริง โดยจำเลยทั้งสองมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันตามฟ้องจึงไม่สมบูรณ์ ทำให้เอกสารดังกล่าวนั้นเป็นเอกสารปลอมโจทก์จึงอ้างเอกสารนั้นมาเป็นพยานหลักฐานในคดีอย่างใดไม่ได้ ฉะนั้น การกู้เงิน 100,000 บาทและการค้ำประกันตามที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จึงถือว่าไม่มีพยานหลักฐานเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 และมาตรา 680 จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินกู้ยืมโจทก์ตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share