แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามคำฟ้องเดิมของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่ได้ทำงานทุกวันเพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีวัตถุดิบซึ่งไม่ใช่ความผิดของโจทก์ จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างในช่วงที่โจทก์ไม่ได้ทำงานด้วย ต่อมาจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชย โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานซึ่งพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายค่าจ้างช่วงที่จำเลยที่ 1 ไม่มีงานให้โจทก์ทำและค่าชดเชยแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ดังนี้ คำฟ้องเดิมจึงเป็นการฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายเงินตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 124 วรรคสาม อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายต่อชื่อเสียงของจำเลยที่ 1 กรณีโจทก์ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานอันเป็นเท็จ ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียงนั้น เป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งไม่เกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงานเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างกันกับคำฟ้องเดิม ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
ย่อยาว
คดีทั้งยี่สิบเอ็ดสำนวนนี้ ศาลแรงงานภาค 8 สั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 21
โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดสำนวนฟ้องจำเลยทั้งสามทั้งยี่สิบเอ็ดสำนวนขอให้บังคับจำเลยทั้งสามจ่ายค่าจ้างค้างและค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวน
จำเลยทั้งสามทั้งยี่สิบเอ็ดสำนวนให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดชดใช้ค่าเสียหายต่อชื่อเสียงของจำเลยที่ 1 คนละ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลแรงงานภาค 8 อนุญาต
ศาลแรงงานภาค 8 มีคำสั่งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จึงไม่รับฟ้องแย้ง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งยี่สิบเอ็ดสำนวนอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องเดิมของโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดอ้างว่าโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดไม่ได้ทำงานทุกวันเพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีวัตถุดิบ ซึ่งไม่ใช่เป็นความผิดของโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ด จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างในช่วงที่โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดไม่ได้ทำงานด้วย และต่อมาจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดโดยไม่จ่ายค่าชดเชย โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดจึงยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานซึ่งพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายค่าจ้างช่วงที่จำเลยที่ 1 ไม่มีงานให้โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดทำและค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ด แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ คำฟ้องเดิมเป็นการฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายเงินตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคสาม อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ขอให้บังคับโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดชดใช้ค่าเสียหายต่อชื่อเสียงของจำเลยที่ 1 กรณีโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานอันเป็นเท็จ ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียงนั้น เป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งไม่เกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงานเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างกันกับคำฟ้องเดิมฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ที่ศาลแรงงานภาค 8 มีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งยี่สิบเอ็ดสำนวนฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.