คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10229/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยตามโครงการร่วมใจจากองค์กรอันมีลักษณะเป็นข้อตกลงระงับสัญญาจ้างร่วมกัน โดยจำเลยตกลงให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่พนักงานซึ่งตกลงเข้าร่วมโครงการดังกล่าว และข้อตกลงดังกล่าวมิได้ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของกฎหมายและมิได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด จึงมีผลบังคับได้ เมื่อโจทก์พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยเนื่องจากข้อตกลงตามโครงการร่วมใจจากองค์กร โดยผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวยื่นใบสมัครลาออกอันมีลักษณะเป็นการตกลงระงับสัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์ดังกล่าวด้วยความสมัครใจ จึงมิใช่เป็นการพ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยสืบเนื่องมาจากจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้าง หรือการเกษียณอายุ โจทก์ดังกล่าวจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือเงินค่าตอบแทนความชอบในการทำงานตามที่กำหนดในเรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าชดเชยข้อที่ 45 และ 47 อีก

ย่อยาว

คดีทั้งสองร้อยห้าสิบสามสำนวนนี้เดิมศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 4571/2546 ของศาลแรงงานกลาง โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 254 แต่คดีดังกล่าวซึ่งเป็นโจทก์ที่ 4 ยุติไปแล้วในศาลแรงงานกลาง คงขึ้นมาที่ศาลฎีกาเฉพาะคดีทั้งสองร้อยห้าสิบสามสำนวนนี้
โจทก์ทั้งสองร้อยห้าสิบสามสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายเงินค่าชดเชยจำนวน 6 เท่าของอัตราเงินเดือนค่าจ้างสุดท้ายพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคน
จำเลยทั้งสองร้อยห้าสิบสามสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ในระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 175 และที่ 226 ถึงแก่กรรม นายนาค และนายวันชัย ทายาทโจทก์ที่ 175 และโจทก์ที่ 226 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนตามลำดับ ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 254 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ว่าจำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยและเงินตอบแทนความชอบในการทำงานตามฟ้องให้แก่โจทก์ดังกล่าวหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 หมวด 6 ในเรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าชดเชยนั้นได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานซึ่งเลิกจ้างไว้ตามข้อ 45 และหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินตอบแทนความชอบในการทำงานให้แก่พนักงานซึ่งเกษียณอายุไว้ตามข้อ 47 ทั้งนี้ สาระสำคัญประการหนึ่งของหลักเกณฑ์ดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการที่รัฐวิสาหกิจได้เลิกจ้างพนักงานโดยไม่อยู่ในข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสืบเนื่องมาจากการเกษียณอายุงานของพนักงาน แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 254 พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยตามโครงการร่วมใจจากองค์กรอันมีลักษณะเป็นข้อตกลงระงับสัญญาจ้างร่วมกัน โดยจำเลยตกลงให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่พนักงานซึ่งตกลงเข้าร่วมโครงการดังกล่าว และข้อตกลงดังกล่าวมิได้ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของกฎหมายและมิได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด จึงมีผลบังคับได้ เมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 254 พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยเนื่องจากข้อตกลงตามโครงการร่วมใจจากองค์กรโดยให้ผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวยื่นใบสมัครลาออกอันมีลักษณะเป็นการตกลงระงับสัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์ดังกล่าวด้วยความสมัครใจ จึงมิใช่เป็นการพ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยสืบเนื่องมาจากจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้าง หรือการเกษียณอายุ โจทก์ดังกล่าวจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือเงินค่าตอบแทนความชอบในการทำงานตามที่กำหนดไว้ในเรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าชดเชยข้อที่ 45 และ 47 อีก อุทธรณ์ของโจทก์ทุกคนฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share