คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7521/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องเป็นบุตรของส. กับอ. เมื่ออ. ถึงแก่กรรมส. ได้อยู่กินฉันสามีภริยากับช. ต่อมาช. ถึงแก่กรรมผู้ร้องจึงร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของช. ดังนี้เมื่อช.ถึงแก่กรรมกองมรดกของช. ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยชอบธรรมหรือโดยพินัยกรรมผู้ร้องเป็นบุตรของส. กับอ. มิได้เป็นบุตรของช. เจ้ามรดกไม่ปรากฎว่าช. จดทะเบียนร้องผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของช.โดยตรงอีกทั้งช. มีทายาทที่จะรับมรดกโดยตรงอยู่แล้วผู้ร้องจึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ การที่ส. มารดาของผู้ร้องเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกของช. คงเพียงแต่ก่อให้เกิดสิทธิที่ผู้ร้องจะฟ้องขอแบ่งโดยอ้างว่ามีส่วนของส. มารดาผู้ร้องร่วมด้วยเท่านั้นซึ่งผู้ร้องชอบไปว่ากล่าวเป็นอีกส่วนหนึ่ง ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านระบุว่าอ. ในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของนางสาว ช. ผู้เยาว์และข้อความในคำคัดค้านบรรยายว่าผู้คัดค้านในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ทั้งสามเป็นผู้มีส่วนได้เสียฟังได้ว่าเป็นคำคัดค้านของผู้เยาว์ทั้งสามโดยมารดาคัดค้านแทนดังนั้นแม้ต่อมานางสาวช. ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะและอ. ไม่อยู่ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมอีกต่อไปก็ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีแทนในขณะยื่นคำคัดค้านแต่เมื่อปรากฎว่าผู้เยาว์ได้บรรลุนิติภาวะแล้วล. ไม่อยู่ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมอีกต่อไปศาลฎีกาสมควรตั้งนางสาวช.เป็นผู้จัดการมรดกของช.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางสวิง กัลยณกุลหรือเนื่องจำนงค์ กับนายอำนวย กัลยาณกุลบิดาผู้ร้องถึงแก่กรรม มารดาผู้ร้องจึงอยู่กินฉันสามีภรรยากับนายเชวง ยังสุข โดยมิได้จดทะเบียนสมรส และทำมาหาได้ร่วมกันมีทรัพย์สินต่าง ๆ ระบุชื่อนางเชวง เป็นเจ้าของ เมื่อมารดาผู้ร้องถึงแก่กรรม ยังมีทรัพย์สินส่วนของมารดาผู้ร้อง ซึ่งทำมาหาได้ร่วมกับนาย เชวง และยังไม่ได้แบ่งปันให้แก่ทายาทรวมอยู่กับทรัพย์สินของ นางเชวง ต่อมานายเชวง ถึงแก่กรรม การจัดการมรดกของมารดาผู้ร้องซึ่งรวมอยู่กับกองมรดกของนายเชวงมีเหตุขัดข้อง ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางเชวง ยังสุข ผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องมิได้เป็นทายาทของนายเชวง ผู้ตาย และไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายทรัพย์สินที่มีชื่อผู้ตายในทะเบียนเป็นทรัพย์ของผู้ตายเพียงผู้เดียวแต่ผู้ร้องมีเจตนาไม่สุจริตและต้องการที่จะปิดบังทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านอยู่กินฉันสามีภรรยากับผู้ตายโดยมิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตร 3 คน บางคนยังเป็นผู้เยาว์คือ นางสาวชณาทิพย์ ยังสุขนางสาวชณารักษ์ ยังสุข และนางสาวชัญชณา ยังสุข โดยผู้ตายได้จดทะเบียนรับรองบุตรแล้ว ผู้คัดค้านในฐานผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ทั้งสามจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายและไม่เป็นบุคคลต้องห้ามเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ยกคำร้องและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งตั้งนางทิพวัลย์ เอี่ยมประเสริฐผู้ร้อง และนางอานิลนาฎ เสนีวงศ์ ผู้คัดค้าน ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายเชวง ยังสุข ผู้ตาย
ผู้ร้องและผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้องขอ คำคัดค้าน คำสั่งของศาลชั้นต้นกับอุทธรณ์ของผู้ร้องและผู้คัดค้าน
ผู้ร้อง และ ผู้คัดค้าน ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของนายอำนวยและนางสวิง กัลยาณกุลเมื่อประมาณปี 2499 บิดาผู้ร้องถึงแก่กรรม มารดาผู้ร้องได้อยู่กินฉันสามีภรรยากับนายเชวง ยังสุขโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย และเมื่อปี 2508 ผู้คัดค้านอยู่กินเป็นสามีภรรยากับนายเชวง โดยไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือนางสาวชณาทิพย์ ยังสุข อายุ 21 ปี นางสาวชณารักษ์ ยังสุขอายุ 18 ปี และนางสาวชัญชณา ยังสุข อายุ 17 ปี โดยนายเชวงจดทะเบียนรับรองบุตรทั้งสาม เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2531 มารดาผู้ร้องได้ถึงแก่กรรม ผู้ร้องได้เป็นผู้จัดการมรดกของมารดาตามคำสั่งศาล ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม 2533 นายเชวง ได้ถึงแก่กรรมมีทรัพย์สินเป็นที่ดิน เงินฝากที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และตั๋วสัญญาใช้เงิน ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้ คดีมีปัญหาว่าสมควรตั้งผู้ร้องหรือผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายเชวงผู้ตายผู้คัดค้านฎีกาข้อแรกว่าศาลชั้นต้นสั่งตั้งนางสาวชณาทิพย์ เป็นผู้จัดการมรดกของนายเชวงแล้ว ไม่มีเหตุจะสั่งตั้งผู้รองให้เป็นผู้จัดการมรดกอีกต่อไป ส่วนผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางสาวชณาทิพย์ต่อศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นให้เพิกถอนนางสาวชณาทิพย์ จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายเชวง ปรากฎตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 14688/2535 คดีหมายเลขแดงที่ 2716/2536ตามคำพิพากษาท้ายฎีกาผู้ร้องเห็นว่า ผู้คัดค้านไม่ได้ยื่นคำแก้ฎีกาว่าไม่เป็นความจริง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าศาลชั้นต้นได้สั่งเพิกถอนนางสาวชณาทิพย์ จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายเชวงแล้ว จึงมีเหตุที่จะต้องตั้งผู้จัดการมรดกของนายเชวง ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น ศาลฎีกาเห็นว่าเพื่อไม่ให้คดีล่าช้าโดยไม่จำเป็นเห็นควรวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องและผู้คัดค้านโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) ประกอบมาตรา 247ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้ร้องไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของนายเชวง ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกข้อนี้ผู้ร้องลงนำสืบว่า นางสวิงได้อยู่กินฉันสามีภรรยากับนายเสวง มีทรัพย์สินและได้ครอบครองทรัพย์สินร่วมกับนายเชวงปรากฎตามทะเบียนการครอบครองที่ดินเอกสารหมาย ร.2ผู้คัดค้านเบิกความตอบทนายผู้ร้องถามค้านรับว่าที่ผู้คัดค้านอยู่กินกับนายเชวงนั้น ผู้คัดค้านทราบว่านายเชวง มีภรรยาอยู่แล้วชื่อสวิง ซึ่งเจือสมกับพยานผู้ร้อง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางสวิง มารดาผู้ร้องและนายเสวง เจ้าของทรัพย์สินร่วมกันอย่างไรก็ตามเมื่อนายเชวงถึงแก่กรรมกองมรดกของนายเชวงย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือโดยพินัยกรรม ผู้ร้องเป็นบุตรของนายอำนวยและนางสวิงมิได้เป็นบุตรของนายเชวงเจ้ามรดกแม้ภายหลังบิดาผู้ร้องถึงแก่กรรมนางสวิง ได้อยู่กินฉันสามีภรรยากับนายเชวง โดยไม่จดทะเบียนสมรส เมื่อไม่ปรากฎว่านายเชวงจดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของนายเชวงโดยตรง เมื่อนายเชวงถึงแก่กรรมกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนของนายเชวงเท่านั้นที่ตกทอดแก่ทายาท และนายเชวง มีทายาทโดยธรรมคือนางสาวชณาทิพย์ นางสาวชณารักษ์และนางสาวชัญชณา ที่จะรับมรดกโดยตรงอยู่แล้วเช่นนี้ ผู้ร้องจึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ การที่นางสวิง มารดาผู้ร้องเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกของนายเชวงเพียงแต่ก่อให้เกิดสิทธิที่ผู้ร้องจะฟ้องขอแบ่งโดยอ้างว่ามีส่วนของนางสวิงมารดาของผู้ร้องรวมอยู่ด้วยเท่านั้น ซึ่งผู้ร้องชอบที่จะไปว่ากล่าวเป็นอีกส่วนหนึ่ง ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น และศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ตามคำคัดค้านระบุว่านางอานิลนาฎ เสนีวงศ์ ในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของนางสาวชฎาทิพย์ ยังสุข นางสาวชณารักษ์ ยังสุข และนางสาวชัญชณา ยังสุข เมื่ออ่านประกอบข้อความในคำคัดค้านซึ่งบรรยายว่า ผู้คัดค้านในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ทั้งสามเป็นผู้มีส่วนได้เสีย แสดงชัดแจ้งว่า มารดาเป็นผู้คัดค้านแทนผู้เยาว์ทั้งสามในฐานะที่เป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรม จึงเป็นคำคัดค้านของผู้เยาว์ทั้งสามโดยมารดาคัดค้านแทน แม้ปัจจุบันนางสาวชณาทิพย์ นางสาวชนารักษ์ และนางสาวชัญชณา ผู้เยาว์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของนายเชวง จะบรรลุนิติภาวะแล้ว และนางอานิลนาฎไม่อยู่ในฐานผู้แทนโดยชอบธรรมต่อไปก็ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีแทนในเมื่อขณะยื่นคำคัดค้าน นางอานิลนาฎยังเป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ทั้งสามอยู่ จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย มีสิทธิยื่นคำร้องขอจัดการมรดกได้ แต่เมื่อปรากฎว่าผู้เยาว์ทั้งสามบรรลุนิติภาวะแล้ว เช่นนี้นางอานินาฎจึงไม่อยู่ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมอีกต่อไป ศาลฎีกาเห็นควรตั้งนางสาวชณาทิพย์ นางสาวชณารักษ์ และนางสาวชัญชณาเป็นผู้จัดการมรดกของนายเชวง
อนึ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 กำหนดให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่แม้จะให้เป็นพับกันไปก็ตาม แต่ปรากฎว่าศาลชั้นต้นมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไขในเรื่องนี้จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ตั้งนางสาวชณาทิพย์ ยังสุขนางสาวชณารักษ์ ยังสุข และนางสาวชัญชณา ยังสุข เป็นผู้จัดการมรดกของนายเชวง ยังสุข ผู้ตายโดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share