คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 อ้างว่าการผิดสัญญาหมั้นของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายต่อกายและชื่อเสียงของโจทก์ที่ 1 จึงเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้ค่าทดแทนความเสียหายเป็นเงิน 50,000 บาท ส่วนโจทก์ที่ 2 อ้างว่าจำเลยทั้งสามไปสู่ขอโจทก์ที่ 1 โดยตกลงให้สินสอดแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 50,000 บาท แต่จำเลยทั้งสามผิดสัญญาหมั้นและไม่ชำระค่าสินสอด จึงเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าสินสอดจำนวนดังกล่าว แม้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสองต่างเกิดจากการผิดสัญญาหมั้น แต่โจทก์ที่ 1 เรียกร้องให้รับผิดใช้ค่าทดแทนความเสียหายต่อกายและชื่อเสียงของโจทก์ที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1440 (1) ส่วนโจทก์ที่ 2 เรียกร้องให้ชำระค่าสินสอดแก่โจทก์ที่ 2 ตามมาตรา 1437 วรรคสาม จึงเป็นกรณีที่โจทก์แต่ละคนต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 50,000 บาท และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง ทุนทรัพย์พิพาทในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามต่อโจทก์แต่ละคนไม่เกินห้าหมื่นบาท ทั้งมิใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง
อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามที่ว่า จำเลยทั้งสามผิดสัญญาหมั้นตั้งแต่วันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปี 2543 แต่โจทก์ทั้งสองเพิ่งจะยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2544 พ้นกำหนด 6 เดือน นับแต่วันผิดสัญญาหมั้น ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้น เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาว่า จำเลยทั้งสามผิดสัญญาหมั้นเมื่อวันขึ้น 10 ค่ำ เดือนหก หรือเดือนมิถุนายน 2544 เพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 มีอายุ 18 ปี เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 2 เมื่อเดือนธันวาคม 2541 จำเลยทั้งสามทำสัญญาหมั้นโจทก์ที่ 1 เพื่อให้สมรสกับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยมอบของหมั้นเป็นสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 ในวันทำสัญญาหมั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงจะให้สินสอดจำนวน 50,000 บาท แก่บิดามารดาของโจทก์ที่ 1 เมื่อโจทก์ที่ 1 สมรสกับจำเลยที่ 3 กำหนดวันจัดพิธีแต่งงานและจดทะเบียนสมรสในวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 หรือเดือนมิถุนายน 2542 แต่เมื่อถึงวันดังกล่าวจำเลยที่ 3 ไม่ยอมสมรสกับโจทก์ที่ 1 ทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายต่อกายและชื่อเสียงคิดเป็นเงิน 50,000 บาท และจำเลยทั้งสามต้องร่วมกันชำระค่าสินสอดเป็นเงิน 50,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสามยื่นคำให้การว่า จำเลยทั้งสามไม่เคยสู่ขอหมั้นโจทก์ที่ 1 ให้สมรสกับจำเลยที่ 3 และไม่เคยตกลงว่าจะให้สินสอดจำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองมิได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายภายใน 6 เดือน ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความและตามคำฟ้องระบุว่าโจทก์ที่ 1 มีอายุ 20 ปี ซึ่งมีอำนาจฟ้องด้วยตนเองได้ แต่โจทก์ทั้งสองกลับบรรยายฟ้องว่าโจทก์ที่ 1 อายุ 18 ปี เป็นผู้เยาว์มีโจทก์ที่ 2 เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมทำให้จำเลยทั้งสามไม่ทราบว่าโจทก์ที่ 1 อยู่ในฐานะอย่างไร และโจทก์ที่ 2 มีอำนาจฟ้องแทนโจทก์ที่ 1 ได้หรือไม่ ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 50,000 บาท และชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 สิงหาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 5,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า คดีของจำเลยทั้งสามต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสามฎีกาว่า โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้ค่าทดแทนความเสียหายต่อกายและชื่อเสียงของโจทก์ที่ 1 และค่าสินสอดรวมกันเป็นเงิน 100,000 บาท สิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสองเกิดจากการผิดสัญญาหมั้น มูลคดีไม่อาจแบ่งแยกออกจากกันได้ ต้องถือว่าคดีมีทุนทรัพย์พิพาทในชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 100,000 บาท จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ที่ 1 อ้างว่าการผิดสัญญาหมั้นของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายต่อกายและชื่อเสียงของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 จึงเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้ค่าทดแทนความเสียหายต่อกายและชื่อเสียงของโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท ส่วนโจทก์ที่ 2 อ้างว่าจำเลยทั้งสามไปสู่ขอโจทก์ที่ 1 โดยตกลงให้สินสอดแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 50,000 บาท แต่จำเลยทั้งสามผิดสัญญาหมั้นและไม่ชำระค่าสินสอด จึงเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าสินสอดจำนวนดังกล่าว แม้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสองต่างเกิดจากการผิดสัญญาหมั้นดังที่จำเลยทั้งสามฎีกาก็ตาม แต่การใช้สิทธิของโจทก์ที่ 1 เป็นการเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้ค่าทดแทนความเสียหายต่อกายและชื่อเสียงของโจทก์ที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1440 (1) ส่วนโจทก์ที่ 2 เรียกร้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าสินสอดแก่โจทก์ที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรคสาม จึงเป็นกรณีที่โจทก์แต่ละคนต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แม้โจทก์ทั้งสองจะฟ้องรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 50,000 บาท และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง ทุนทรัพย์พิพาทในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามต่อโจทก์แต่ละคนไม่เกินห้าหมื่นบาท ทั้งมิใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้ไปสู่ขอและทำการหมั้นโจทก์ที่ 1 เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาว่า จำเลยทั้งสามได้ทำสัญญาหมั้นโจทก์ที่ 1 จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ส่วนที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสามผิดสัญญาหมั้นตั้งแต่วันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปี 2543 แต่โจทก์ทั้งสองเพิ่งจะยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2544 พ้นกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ผิดสัญญาหมั้น ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้น เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาว่า จำเลยทั้งสามผิดสัญญาหมั้นเมื่อวันขึ้น 10 ค่ำ เดือนหก หรือเดือนมิถุนายน 2544 เพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเช่นเดียวกัน ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสาม เป็นการสั่งรับอุทธรณ์โดยไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ชอบที่จะไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสาม ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมจะต้องสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลอุทธรณ์ให้แก่จำเลยทั้งสามทั้งหมดตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่จำเลยทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share