แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำว่า “คำสั่งของศาลตามมาตรานี้” ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 307 วรรคสอง มีความหมายว่า หากมีกรณียื่นคำร้องตามมาตรา 307 วรรคหนึ่งแล้ว คำสั่งใด ๆ ที่เกี่ยวกับคำร้องดังกล่าวย่อมอยู่ในความหมายของคำว่า “คำสั่งศาลตามมาตรานี้” ทั้งสิ้น เมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเลื่อนการไต่สวนคำร้องขอตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์ อ้างว่าจำเลยที่ 2 ป่วย จึงเป็นคำร้องตามมาตรา 307 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี และมีคำสั่งยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน จึงเป็นที่สุด ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามมาตรา 307 วรรคสอง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 2,697,187.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี แต่ไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศโจทก์ ของต้นเงิน 2,195,971.01 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 ธันวาคม 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 631, 633, 634, 635 และ 636 ตำบลหนองตาแต้ม อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 นำออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวจำนวน 1,202,422.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี แต่ไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศโจทก์ ของต้นเงิน 976,965.70 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 101 ตำบลหนองตาแต้ม (เขาน้อย) อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 นำออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเพื่อนำออกขายทอดตลาด
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เพื่อมอบเงินรายได้ทั้งหมดหรือบางส่วนต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแทนการสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 วรรคหนึ่ง ครั้นถึงวันนัดไต่สวนคำร้อง ทนายความจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าจำเลยที่ 2 ท้องเสียเนื่องจากอาหารเป็นพิษ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี ยกคำร้อง และถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีพยานมาสืบให้เห็นว่ากรณีมีเหตุสมควรตั้งผู้จัดการทรัพย์สิน จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า ภายหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองเพื่อนำออกขายทอดตลาด จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับคำร้องและนัดไต่สวน เมื่อถึงวันนัดไต่สวนนัดแรก ทนายความจำเลยที่ 2 นำคำร้องขอเลื่อนคดีมายื่นต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอเลื่อนคดีและคำร้องขอตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า “คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ได้ และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด” ซึ่งคำว่า “คำสั่งของศาลตามมาตรานี้” มีความหมายว่า หากมีกรณียื่นคำร้องตามมาตรา 307 วรรคหนึ่งแล้ว คำสั่งใด ๆ ที่เกี่ยวกับคำร้องดังกล่าวย่อมอยู่ในความหมายของคำว่า “คำสั่งของศาลตามมาตรานี้” ในบทบัญญัติในวรรคสองทั้งสิ้น เมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเลื่อนการไต่สวนคำร้องขอตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์ อ้างว่าจำเลยที่ 2 ป่วย เช่นนี้ จึงเป็นคำร้องตามมาตรา 307 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงเป็นที่สุด ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามมาตรา 307 วรรคสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 2 ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นฎีกาแก่จำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ.