แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ขับรถแล่นสวนกับรถของผู้เสียหายโดยประมาท จำเลยจึงมิใช่ผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น จำเลยย่อมไม่มีหน้าที่ต้องแสดงตัวหรือแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78,160 วรรคแรกจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที แม้ความผิดในข้อหาดังกล่าวจะยุติโดยต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องในข้อหานี้ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 225 เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 78, 157, 160
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 78, 157, 160ความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 3 เดือน ความผิดฐานหลบหนีไม่ช่วยเหลือผู้เสียหายและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่อยู่ใกล้เคียงทันทีให้จำคุก 3 เดือน รวมให้จำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43(4), 157 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2538 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา นายอนุชิต กุสันเทียะ ผู้เสียหายได้ขับรถจักรยานยนต์จนเกิดอุบัติเหตุได้รับอันตรายที่นิ้วชี้มือขวาขาดและกระดูกต้นขาขวาหัก เมื่อเกิดเหตุแล้วผู้เสียหายหมดสติอยู่ในที่เกิดเหตุ วันที่ 14 เมษายน 2538 จึงรู้สึกตัวและต่อมาอีก 2 ถึง 3 วัน ผู้เสียหายจึงได้ระบุว่าจำเลยเป็นผู้ก่อเหตุ โดยขับรถไถนาชนิดเดินตามมีกระบะพ่วงแล่นล้ำเข้ามาทางเดินรถของผู้เสียหาย จำเลยหลบรถไถนาชนิดเดินตามไปทางซ้ายแต่กระบะพ่วงหลบไม่ทัน เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายแล่นชนกระบะพ่วงส่วนท้าย ทั้งขณะเกิดเหตุนอกจากผู้เสียหายแล้วโจทก์ไม่มีพยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้กระบะพ่วงท้ายรถไถนาชนิดเดินตามยื่นล้ำทางเดินรถจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์แล่นชนหรือไม่ โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นเหตุการณ์หรือมีพยานแวดล้อมที่มีเหตุผลเสริมประกอบคำเบิกความของผู้เสียหายได้แล้ว ทั้งมีเหตุอันควรที่จะสงสัยตามคำเบิกความของร้อยตำรวจโทเล็ก พนักงานสอบสวนกับแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุประกอบภาพถ่ายหมาย จ.5 ที่ถ่ายภายหลังเกิดเหตุ ปรากฏว่าตรงที่เกิดเหตุมีร่องน้ำริมถนนลึกประมาณ 1 คืบ ผู้เสียหายดื่มสุรามาก่อนทั้งตามภาพถ่ายหมาย จ.5 ภาพที่ 4 รถจักรยานยนต์ล้มเลยร่องน้ำพอดีและผู้เสียหายตกเลยร่องน้ำอีกด้วย เหตุจึงอาจเกิดจากผู้เสียหายเมาสุราขับรถตกร่องน้ำเองก็เป็นได้ดังคำเบิกความของร้อยตำรวจโทเล็ก พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักมั่นคงพอที่จะฟังลงโทษจำเลยได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำการโดยประมาท โดยขับรถแล่นสวนกับรถของผู้เสียหาย จำเลยจึงมิใช่ผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่นแล้ว จำเลยย่อมไม่มีหน้าที่ต้องแสดงตัวหรือแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงตามที่พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78, 160 วรรคแรก บังคับไว้ได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที แม้ความผิดในข้อหาดังกล่าวนี้ได้จะยุติโดยต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องในข้อหานี้ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 225 เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน และเมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้ว กรณีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยอีกต่อไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 78, 160 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1