แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ฯ ได้บัญญัติให้มาซิลดอลและไดอาซีแพม เป็นวัตถุออกฤทธิ์คนละประเภทกัน โดยมาซิลดอลเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ส่วนไดอาซีแพมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 97) ฯ เรื่องระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ตามความใน พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ฯ ทั้งบทกำหนดโทษในความผิดฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวก็เป็นคนละมาตรากัน แสดงว่ากฎหมายมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับวัตถุออกฤทธิ์แต่ละประเภทแยกต่างหากจากกัน ดังนั้น แม้จำเลยจะมีไว้เพื่อขายวัตถุออกฤทธิ์ทั้ง 2 ประเภทในคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ความผิดในแต่ละกระทงศาลอุทธรร์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยในแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 6, 13 ทวิ, 16, 62, 89, 90, 106, 116 พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 4, 12, 72, 101, 122, 126 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 58, 91 ริบวัตถุออกฤทธิ์และยาแผนปัจจุบันของกลางบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4027/2547 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 16 วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89, 90, 106 วรรคหนึ่ง วรรคสอง พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง, 72 (4), 101, 122 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งมาซินดอลกับความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งมาซินดอลโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งมาซินดอล ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 ปี ความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งไดอาซีแพมกับความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไดอาซีแพมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษมีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งไดอาซีแพมเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ฐานนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำคุก 6 เดือน ฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำคุก 6 เดือน ฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 10 เดือน รวมจำคุก 11 ปี 22 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี 17 เดือน บวกโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน 15 วัน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4027/2547 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ เป็นจำคุก 6 ปี 23 เดือน 15 วัน ริบวัตถุออกฤทธิ์และยาแผนปัจจุบันของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาแผนปัจจุบันประเภทยาควบคุมพิเศษที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา กับความผิดฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งยาแผนปัจจุบันประเภทยาควบคุมพิเศษที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งยาแผนปัจจุบันประเภทยาควบคุมพิเศษที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด (ที่ถูก มีโทษเท่ากัน) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ความผิดฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งมาซินดอล จำคุก 6 ปี ฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งไดอาซีแพม จำคุก 2 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี 3 เดือน เมื่อรวมกับโทษอื่นที่ศาลชั้นต้นกำหนดและบวกโทษที่รอการลงโทษจำคุกไว้ เป็นจำคุก 5 ปี 14 เดือน 15 วัน ให้ริบยาแผนปัจจุบันของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าความผิดฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งมาซินดอลและฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งไดอาซีแพมของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ได้บัญญัติให้มาซิลดอลและไดอาซีแพม เป็นวัตถุออกฤทธิ์คนละประเภทกัน โดยมาซิลดอลเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ส่วนไดอาซีแพมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 (พ.ศ.2539) เรื่องระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ทั้งบทกำหนดโทษในความผิดฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวก็เป็นคนละมาตรากัน แสดงว่ากฎหมายมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับวัตถุออกฤทธิ์แต่ละประเภทแยกต่างหากจากกัน ดังนั้น แม้จำเลยจะมีไว้เพื่อขายวัตถุออกฤทธิ์ทั้ง 2 ประเภทในคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หาใช่เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาไม่ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า ความผิดในแต่ละกระทง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลย ในแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยในข้อนี้เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน