คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 75/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฟ้องขอเลิกหุ้นส่วนในกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งซึ่งมิใช่ผู้ฟ้องร้อง ได้จงใจล่วงละเมิดบทบังคับอันเป็นสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตน เป็นกรณีที่ต้องด้วยบทมาตรา 1057(1) แห่งประมวลแพ่งฯ ย่อมฟ้องร้องได้ทันที ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือคอยระยะเวลาสิ้นรอบปีในทางบัญชีเงินตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1056 แห่งประมวลแพ่งฯ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ พิพากษาให้โจทก์ จำเลยเลิกหุ้นส่วนสามัญ(ไม่จดทะเบียน) ที่ได้ทำสัญญากันมีวัตถุประสงค์ว่า โจทก์จำเลยเป็นเจ้าของร่วในรถยนต์คันเลขทะเบียน ส.ห.๔๕๓ และจะใช้รถคันนี้หาผลกำไรมาแบ่งปันกันตามส่วนเท่า ๆ กัน อ้างว่าจำเลยไม่แบ่งผลกำไรและผิดสัญญาเอารถไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวไม่ยอมให้โจทก์จัดการด้วยดังสัญญากันให้ จำเลยคืนเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท(ราคารถยนต์กึ่งหนึ่ง) และแบ่งผลกำไรให้โจทก์อีก ๘๐๐ บาท หากแห่งไม่ได้ก็บอกขายทอดตลาดรถแบ่งเงินกันตามส่วน และหักผลกำไรให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในเงิน ๒๐,๘๐๐ บาท
ชั้นแรกจำเลยให้การรับในข้อว่าได้ทำสัญญาเข้าหุ้นส่วนดังฟ้อง จำเลยไม่ขัดข้องที่โจทก์จะขอเลิกหุ้นโดยอ้างเหตุหลายประการ แต่ต่อมาจำเลยข้อแก้คำให้การบางประการและมีข้อตัดฟ้องว่าโจทก์ไม่ได้แจ้งให้ทราบก่อนฟ้องว่าจะถอนหุ้น และฟ้องแย้งขอให้บังคับให้โจทก์แบ่งรายได้ที่โจทก์ใช้รถยนต์พิพาทหาผลประโยชน์ได้ให้จำเลยกึ่งหนึ่งเป็นเงิน ๔,๗๓๔ บาทพร้อมดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฟ้องแย้ง จำเลยได้อุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นรับไว้พิจารณาแล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยเลิกหุ้นส่วนกัน ให้จำเลยคืนเงิน ๒๐,๐๐๐ บาทให้โจทก์กับแบ่งรายได้อีก ๘๐๐ บาทให้ และให้เสียดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่ง ยกฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อที่จำเลยตัดฟ้องว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่ได้บอกเลิกเมื่อสิ้นรอบปีในทางบัญชีเงิน และไม่ได้บอกล่วงหน้า ๖ เดือนนั้น เป็นข้ออ้างที่อาศัย ม.๑๐๕๖ แห่งประมวลแพ่งฯ ซึ่งเป็นบทบัญญัติในกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งของหุ้นส่วนสามัญที่ตั้งขึ้นโดยไม่มีกำหนดกาลอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นยุติ ประสงค์จะเลิกหุ้นส่วนนั้นโดยไม่มีเหตุ จึงต้องบอกกล่าวความจำนงจะเลิกล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกเดือนก่อนสิ้นรอบปีในทางบัญชีเงินของหุ้นส่วนนัน แต่ในกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งซึ่งมิใช่ผู้ฟ้องร้องได้จงใจล่วงละเมิดบทบังคับใด ๆ อันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตน ดังเช่นที่โจทก์คดีนี้ฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาเอารถไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว ทั้งไม่ยอมให้โจทก์เข้ามีหุ้นส่วนจัดการด้วยดังสัญญากันไว้ เช่นนี้เป็นกรณีที่ต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา ๑๐๕๗(๑) แห่งประมวลแพ่งฯ ซึ่งให้ฟ้องร้องขอให้เลิกหุ้นส่วนได้ทันที หาใช่เป็นกรณีที่อยู่ภายใต้บทบังคับ มาตรา ๑๐๕๖ ไม่ ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์ฟังมาชอบด้วยรูปความตามพยานหลักฐานในสำนวน พิพากษายืน

Share