คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1748/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีโต้แย้งในตอนที่คดีถึงที่สุดแล้วอยู่ในระหว่างการบังคับคดี ไม่ใช่เป็นเรื่องคดีค้างพิจารณา ซึ่งถ้าหากคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมรณะ ศาลจะต้องเลื่อนการนั่งพิจารณาไปจนกว่าจะมีผู้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ (อ้างคำสั่งคำร้องฎีกาที่ 65/2492)
ในชั้นบังคับคดี จำเลยแต่งทนายไว้แล้วถึงแก่กรรมลง ในระยะที่เกี่ยวพันติดต่อกัน เมื่อทนายจำเลยยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีไว้ ศาลก็ย่อมผ่อนให้ทนายจำเลยยังพึงมีทางกระทำเพื่อรักษาประโยชน์ให้แก่คู่ความได้ในระหว่างที่ยังไม่มีตัวความ และเป็นการกระทำที่ไม่ใช่เป็นเรื่องการพิจารณาคดีค้าง
คดีถึงที่สุดแล้ว หากมีการอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลในชั้นบังคับคดี ก็มีกรณีที่จะต้องตั้งต้นพิจารณาชั้นอุทธรณ์ขึ้นใหม่ในระหว่างคู่ความเมื่อปรากฏว่าจำเลยมรณะ ทนายจำเลยย่อมสิ้นสภาพ การพิจารณาคดีต่อไปจะต้องจัดการให้มีผู้มารับมรดกความเสียก่อน
การที่ศาลล่างดำเนินกระบวนพิจารณาไปโดยไม่มีคู่ความทั้งสองฝ่ายพร้อมเมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์นำยึดทรัพย์ของจำเลยเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา วันที่ 8 ธันวาคม 2510 ซึ่งเป็นวันนัดขายทอดตลาดทรัพย์จำเลยได้แต่งนายวิรัชเป็นทนาย และยื่นคำร้องขอเลื่อนการขายทอดตลาดทรัพย์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อเวลาประมาณ 11 นาฬิกาอนุญาตให้เลื่อนการขายทอดตลาดไปวันที่ 18 มกราคม 2511 ต่อมาวันที่ 15 มกราคม 2511 นายวิรัชได้ยื่นคำร้องในฐานะทนายจำเลยว่า จำเลยตายเมื่อเวลา 12 นาฬิกาของวันที่ 8 ธันวาคม 2510 โดยตัวจำเลยยังไม่ทราบจากทนายว่าศาลได้เลื่อนการขายทอดตลาดไปวันใดและขณะนี้คดียังไม่มีทายาทขอรับมรดกความ จึงแถลงให้ศาลทราบ และขอให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์ไว้ก่อนจนกว่าจะมีผู้รับมรดกความ

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ให้งดการขายทอดตลาดไว้ก่อน

โจทก์อุทธรณ์คัดค้าน

ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดการขายทอดตลาดเสีย ให้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินรายนี้ต่อไป

นายวิรัช ในฐานะทนายจำเลยฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีโต้แย้งในตอนที่คดีถึงที่สุดแล้วอยู่ในระหว่างการบังคับคดีไม่ใช่เป็นเรื่องคดีค้างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 ซึ่งถ้าคู่ความมรณะศาลจะต้องเลื่อนการพิจารณาไปจนกว่าทายาท ฯ จะได้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ ดังนัยคำสั่งคำร้องฎีกาที่ 65/2492 แต่โดยที่ในชั้นบังคับคดีนี้จำเลยได้แต่งทนายไว้แล้วถึงแก่กรรมลง ฉะนั้นในระยะเกี่ยวพันติดต่อกันเช่นนี้ เมื่อทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีไว้ ศาลก็ย่อมผ่อนให้ทนายจำเลยซึ่งจำเลยได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ยังพึงมีทางกระทำเพื่อรักษาประโยชน์ให้แก่คู่ความได้ในระหว่างที่ยังไม่มีตัวความ และเป็นการกระทำที่ไม่ใช่เป็นเรื่องการพิจารณาคดีค้าง แต่เมื่อฝ่ายโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นศาลชั้นต้นสั่งว่า “รับเป็นอุทธรณ์คำสั่งสำเนาให้ทนายจำเลย ให้ผู้อุทธรณ์นำส่งสำเนาภายใน 15 วัน” นั้น ทำให้คดีกลับมีกรณีที่จะต้องตั้งต้นพิจารณาชั้นอุทธรณ์ขึ้นใหม่ในระหว่างโจทก์จำเลย เมื่อจำเลยได้ตายไปเสียแล้ว นายวิรัชทนายจำเลยย่อมหมดสภาพเป็นทนายจำเลยจึงทำให้ฝ่ายในคดีนี้คงมีแต่โจทก์ฝ่ายเดียว ส่วนฝ่ายจำเลยยังไม่มีผู้มารับมรดกความเข้าดำเนินคดีแทนที่จำเลยผู้ตาย ในการพิจารณาคดีต่อไปก็จะต้องจัดการให้มีผู้รับมรดกความเสียก่อน การที่ศาลล่างดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่มีคู่ความทั้งสองฝ่ายพร้อม โดยเฉพาะที่ศาลอุทธรณ์ดำเนินการพิจารณาคดีเกี่ยวกับอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นของโจทก์ไปเลย จึงยังไม่ถูกต้อง เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาให้ถูกต้องได้

พิพากษาให้ยกฎีกานายวิรัชทนายจำเลย และให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์เสียใหม่ แล้วมีคำสั่งไปตามรูปคดี

Share