แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 1 และที่ 5 อุทธรณ์ว่า คำสั่งของจำเลยที่สั่งให้โจทก์ที่ 1 และที่ 5 ย้ายไปทำงานในหน้าที่ใหม่ทำให้โจทก์ที่ 1 และที่ 5 ต้องรับภาระในการทำงานหนักขึ้นและขาดประโยชน์อันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงานจึงขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 นั้นศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่าเมื่อโจทก์ที่ 1 และที่ 5ย้ายมาทำงานในหน้าที่ใหม่แล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1และที่ 5 ได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานน้อยลงจากเดิมและลักษณะงานที่โจทก์ที่ 1 และที่ 5 ต้องทำในหน้าที่ใหม่ไม่หนักขึ้นกว่าเดิม อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 5 ดังกล่าวเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย การที่นายจ้างมิได้จัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักวันละ1 ชั่วโมง แม้จะไม่ชอบด้วยประกาศของกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515ข้อ 6 แต่ก็เป็นเรื่องที่ลูกจ้างจะฟ้องขอให้บังคับนายจ้างปฏิบัติตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวหรือจ่ายค่าจ้างในเวลาพัก เมื่อการสั่งโยกย้ายหน้าที่ลูกจ้างไม่ขัดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างลูกจ้างจะฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายจ้างและให้ลูกจ้างกลับไปทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมไม่ได้ เมื่อจำเลยให้โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 5ทำงานโดยมิได้จัดให้มีเวลาพัก 1 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่16 กุมภาพันธ์ 2537 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2537 และวันที่16 กุมภาพันธ์ 2537 ตามลำดับ และจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างในเวลาพักให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 วันละ 1 ชั่วโมงตราบใดที่จำเลยยังให้โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ทำงานโดยมิได้จัดให้มีเวลาพัก 1 ชั่วโมง ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 อยู่ตลอดไปโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ย่ามมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์จ่ายค่าจ้างดังกล่าวจนกว่าจำเลยจะจัดให้มีเวลาพัก1 ชั่วโมงแต่สำหรับโจทก์ที่ 3 ได้ออกจากงานไปแล้วจึงมีสิทธิที่จะได้ค่าจ้างดังกล่าวจนถึงวันสุดท้ายก่อนออกจากงาน
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันกับคดีอีกสองสำนวนซึ่งโจทก์ได้ถอนฟ้องไปในระหว่างพิจารณาโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนนี้ว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยโจทก์ที่ 1 เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2525ตำแหน่งพนักงานเก็บเศษกระดาษได้รับค่าจ้างวันละ149 บาท และค่าครองชีพเดือนละ 400 บาท หรือวันละ15.38 บาท โจทก์ที่ 3 เข้าทำงานตั้งแต่วันที่8 มิถุนายน 2534 ตำแหน่งพนักงานยกกระดาษ ได้รับค่าจ้างวันละ 125 บาท และค่าครองชีพอีกเดือนละ400 บาท หรือวันละ 15.38 บาท และโจทก์ที่ 5เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2526 ตำแหน่งพนักงานเก็บเศษกระดาษ ได้รับค่าจ้างวันละ 125 บาทและค่าครองชีพเดือนละ 400 บาท หรือวันละ 15.38 บาทกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 1 และวันที่ 16 ของเดือนทำงานตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ หยุดวันอาทิตย์เริ่มทำงานตั้งแต่ 8 ถึง 17 นาฬิกา และพักระหว่างเวลา12 ถึง 13 นาฬิกา ต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2537 และ22 กุมภาพันธ์ 2537 จำเลยมีคำสั่งโยกย้ายโจทก์ที่ 1กับที่ 5 และโจทก์ที่ 3 ตามลำดับ ไปทำงานในตำแหน่งพนักงานยกท้ายกระดาษลูกฟูก การทำงานแบ่งเป็น2 กะ กะเช้าเริ่มทำงานตั้งแต่ 7.15 ถึง 15.15 นาฬิกากะบ่ายเริ่มทำงานตั้งแต่ 15 ถึง 23 นาฬิกา โดยจำเลยมิได้จัดให้มีเวลาพักในระหว่างการทำงาน การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ต้องทำงานหนักขึ้น ขอศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยในเรื่องการย้ายงานและให้โจทก์ทั้งสามกลับไปทำงานในตำแหน่ง หน้าที่เดิม กับให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในเวลาพักเป็นเงิน 410.95 บาท263.10 บาท 350.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับค่าจ้างในเวลาพักวันละ1 ชั่วโมง เป็นเงิน 20.54 บาท 17.54 บาท และ17.54 บาท ถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติตามคำขอให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ตามลำดับ
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 5เป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์ที่ 3 เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่8 มิถุนายน 2533 และโจทก์ที่ 5 เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่8 ตุลาคม 2526 โจทก์ทั้งสามทำงานในตำแหน่งคนงานทั่วไปได้รับค่าจ้างวันละ 149 บาท 125 บาท และ 125 บาทตามลำดับ สำหรับค่าครองชีพเดือนละ 400 บาท นั้นจำเลยไม่ได้จ่ายเป็นจำนวนแน่นอน เพราะหากลูกจ้างคนใดหยุดงานในรอบเดือนเกิน 3 วัน ก็จะไม่ได้รับเงินดังกล่าวค่าครองชีพจึงไม่เป็นค่าจ้าง แต่เดิมการทำงานของโจทก์แบ่งเป็น 2 กะ ต่อมาประมาณปี 2534 มีปริมาณงานลดน้อยลงมากจึงงดการทำงานเป็นกะลงชั่วคราว และให้ลูกจ้างทำงานในเวลาปกติระหว่าง 8 ถึง 17 นาฬิกา หากมีงานเพิ่มก็จะให้ลูกจ้างทำงานเป็นกะอย่างเดิม จำเลยมีคำสั่งโยกย้ายโจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่เนื่องจากมีการปรับอัตรากำลังให้เหมาะสมแก่ปริมาณงานในแต่ละส่วนของงาน ไม่ทำให้โจทก์ต้องทำงานหนักขึ้นหรือขาดประโยชน์เกี่ยวกับการจ้างแต่อย่างใด ในการปฏิบัติงานเป็นกะจำเลยกำหนดให้ลูกจ้างสลับกันหยุดพักและอาบน้ำชำระร่างกาย ไม่ต่ำกว่า20 นาที ทั้งได้จ่ายเงินช่วยเหลือเป็นค่าข้าวคนละ 5 บาทต่อวัน นอกจากนี้ยังมีเงินเป้าจากการทำงานซึ่งลูกจ้างจะได้รับเฉลี่ยวันละ 30 ถึง 80 บาท ค่าจ้างระหว่างเวลาพักตามฟ้องไม่ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา โจทก์ที่ 3 ขอสละคำขอท้ายฟ้องในส่วนที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งจำเลยที่สั่งให้โจทก์ที่ 3 ย้ายงานเนื่องจากโจทก์ที่ 3 ออกจากงานแล้ว
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่จำเลยมีคำสั่งโยกย้ายโจทก์ซึ่งทำหน้าที่เป็นพนักงานไม่ได้ประจำเครื่องมาทำงานในแผนกลูกฟูก เนื่องจากในแผนกลูกฟูกมีปริมาณงานเพิ่มขึ้นและมีกำลังคนไม่เพียงพอ จึงมีความจำเป็นต้องจัดหาคนงานมาช่วยทำงาน ย่อมเป็นเรื่องที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างสามารถออกคำสั่งได้ทั้งนี้เพื่อจำเลยสามารถจัดการบริหารงานของตนให้ถูกต้องและเหมาะสมเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการบริการงานสูงสุด อีกทั้งเมื่อโจทก์ที่ 1และที่ 5 ย้ายมาทำงานในหน้าที่ใหม่แล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 5 ได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานลดน้อยลงจากเดิมแต่อย่างใด ลักษณะงานที่โจทก์ทำงานอยู่เดิมกับงานที่เปลี่ยนมาใหม่นี้ไม่หนักขึ้นกว่าเดิม คำสั่งย้ายงานของจำเลยจึงไม่ขัดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยดังกล่าว จำเลยให้โจทก์ทำงานเป็นกะ ไม่ว่ากะเช้าหรือกะบ่ายโดยมิได้จัดให้มีเวลาพัก1 ชั่วโมง เป็นการแน่นอน เป็นการขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยและทำให้โจทก์ต้องทำงานเกินกว่าเวลาปกติของแต่ละกะในแต่ละวันไปจำนวนวันละ 1 ชั่วโมงทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างส่วนที่ทำงานเกินไปนี้จากจำเลยโดยเฉลี่ยจากค่าจ้างของแต่ละวันที่โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยและโจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างในเวลาพักเป็นเงินตามฟ้องนอกจากนี้โจทก์ยังมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในค่าจ้างค้างจ่ายในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี แต่เมื่อโจทก์ขอให้บังคับจำเลยรับผิดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเท่านั้นจึงกำหนดให้จำเลยรับผิดตามที่โจทก์ขอ ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในเวลาพักให้แก่โจทก์วันละ 1 ชั่วโมงนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะได้ปฏิบัติตามคำขอเป็นเรื่องอนาคต พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในเวลาพักจำนวน 410.95 บาท 236.10 บาท และ 350.95 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง(วันที่ 17 มีนาคม 237) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ตามลำดับคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ที่ 1 และที่ 5อุทธรณ์ว่า คำสั่งของจำเลยที่สั่งให้โจทก์ที่ 1 และที่ 5ย้ายไปทำงานในหน้าที่ใหม่ทำให้โจทก์ที่ 1 และที่ 5ต้องรับภาระในการทำงานหนักขึ้นและขาดประโยชน์อันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน จึงขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 นั้น เห็นว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 และที่ 5ย้ายมาทำงานในหน้าที่ใหม่แล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1และที่ 5 ได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานน้อยลงจากเดิมและลักษณะงานที่โจทก์ที่ 1 และที่ 5 ต้องทำในหน้าที่ในไม่หนักขึ้นกว่าเดิม อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 5ดังกล่าวเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยที่โจทก์ที่ 1 และที่ 5 อ้างว่าเดิมเคยทำงานในเวลา 8ถึง 17 นาฬิกา พักการทำงานเวลา 12 ถึง 13 นาฬิกาแต่จำเลยมีคำสั่งให้ไปทำงานในส่วนงานลูกฟูกซึ่งต้องทำงานเป็นกะ โดยกะแรกเวลา 7.15 ถึง 15.15 นาฬิกา กะที่ 2เวลา 15 ถึง 23 นาฬิกา โดยมิได้จัดให้มีเวลาพักการทำงาน 1 ชั่วโมง ซึ่งขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 6คำสั่งย้ายงานของจำเลยจึงขัดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้น เห็นว่า การที่จำเลยมิได้จัดให้โจทก์ที่ 1และที่ 5 มีเวลาพักวันละ 1 ชั่วโมง แม้จะไม่ชอบด้วยประกาศของกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว แต่ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1 และที่ 5 จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว หรือจ่ายค่าจ้างในเวลาพักเมื่อการสั่งโยกย้ายหน้าที่โจทก์ที่ 1 และที่ 5 ไม่ขัดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โจทก์ที่ 1 และที่ 5 จะฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยและให้โจทก์ที่ 1 และที่ 5กลับไปทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมไม่ได้
ส่วนที่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์ว่า ค่าจ้างที่จำเลยต้องจ่ายในเวลาพักวันละ 1 ชั่วโมง จำเลยได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ตลอดไปจนกว่าจำเลยจะได้ปฏิบัติตามคำพิพากษา การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างดังกล่าวจนถึงวันฟ้องโดยอ้างว่านับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติตามคำขอในส่วนนี้เป็นเรื่องอนาคต ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้โต้แย้งสิทธิในเรื่องค่าจ้างในเวลาพักหลังจากฟ้องหรือไม่ เพียงใดย่อมไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยให้โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ทำงานโดยมิได้จัดให้มีเวลาพัก1 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2537 วันที่ 23 กุมภาพันธ์2537 และวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2537 ตามลำดับ และจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างในเวลาพักให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 วันละ1 ชั่วโมง ดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไว้แล้วตราบใดที่จำเลยยังให้โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ทำงานโดยมิได้จัดให้มีเวลาพัก 1 ชั่วโมง ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 อยู่ตลอดไปโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์จ่ายค่าจ้างดังกล่าวจนกว่าจำเลยจะจัดให้มีเวลาพัก1 ชั่วโมง แต่สำหรับโจทก์ที่ 3 ได้ออกจากงานไปแล้วจึงมีสิทธิที่จะได้ค่าจ้างดังกล่าวจนถึงวันสุดท้ายก่อนออกจากงาน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในเวลาพักให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 วันละ 20.54 บาท17.43 บาท และ 17.54 บาท ตามลำดับนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะจัดให้โจทก์ที่ 1 และที่ 5 มีเวลาพักในระหว่างทำงานวันละ 1 ชั่วโมง ส่วนโจทก์ที่ 3 จนถึงวันสุดท้ายก่อนวันที่โจทก์ที่ 3 ออกจากงานนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง