แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ดื่มสุรานอกสถานที่ทำงานในช่วงเวลาที่โจทก์ได้ขออนุญาตด้วยวาจาต่อผู้บังคับบัญชาออกไปทำธุระส่วนตัว แม้การขออนุญาตดังกล่าวของโจทก์จะไม่ชอบด้วยระเบียบข้อบังคับ เนื่องจากมิได้ขออนุญาตเป็นหนังสือ แต่ผู้บังคับบัญชาก็ได้อนุญาตด้วยวาจาแล้ว ส่วนกรณีที่โจทก์เมาสุราและมีเหตุทะเลาะวิวาทกับ ส. ในบริเวณที่ทำงานของจำเลย การทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นเมื่อเวลาหลังเลิกงานแล้วโดยไม่ทำให้จำเลยเสียหายร้ายแรงตามข้อบังคับของจำเลย และแม้โจทก์โทรศัพท์แจ้งเท็จต่อผู้บังคับบัญชาว่าธุระยังไม่เสร็จ ก็ไม่ปรากฏว่าได้ทำให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรง เช่นเดียวกัน ดังนี้การกระทำดังกล่าวของโจทก์จึงไม่เป็นความผิดวินัยร้ายแรงตามข้อบังคับของจำเลยที่ได้กำหนด ให้เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงต่อเมื่อการกระทำของโจทก์ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่จำเลยด้วย
การเลิกจ้างกรณีเช่นใดจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ศาลแรงงานสามารถวินิจฉัยได้โดยคำนึงถึงเหตุอันควรในการเลิกจ้างประกอบกับระเบียบข้อบังคับการทำงานซึ่งถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
โจทก์ไม่ได้กระทำผิดระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง ทั้งข้อบังคับของจำเลยกำหนดให้การลงโทษไล่ออกกระทำได้ในกรณีที่พนักงานกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง เมื่อการกระทำของโจทก์ไม่เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง จำเลยมีคำสั่งลงโทษไล่โจทก์ออกจากงานไม่ชอบด้วยระเบียบข้อบังคับของจำเลยจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๒๓ จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๑๒,๖๙๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๒๗ ของเดือน ต่อมาวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๔๑ จำเลยมีคำสั่งที่ ๘๖/๒๕๔๑ ลงโทษไล่โจทก์ออกจากการเป็นลูกจ้างตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๑ โดยกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่กรณีลงลายมือชื่อกำกับในการตอกบัตรของวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๑ ไม่ตั้งใจปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของจำเลย ละทิ้งหน้าที่ และเสพสุรามึนเมาในระหว่างปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่เป็นความจริง ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๘๖/๒๕๔๑ และให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งอัตราค่าจ้างเท่าเดิม หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ก็ให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จจำนวน ๒๒๕,๒๔๗.๕๐ บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของจำเลยเป็นความผิดร้ายแรง เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายต้องจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์โดยไม่ได้รับผลงานตอบแทน เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยไล่โจทก์ออกจากการเป็นพนักงานจึงไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งที่ ๘๖/๒๕๔๑ ของจำเลยและรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิม และเมื่อโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงไม่เข้าหลักเกณฑ์การมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จตามฟ้องแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๘๖/๒๕๔๑ ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งอัตราค่าจ้างเดิม โดยให้จำเลยพิจารณาลงโทษโจทก์สถานอื่นให้เหมาะสมแก่การกระทำต่อไป
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปทำธุระส่วนตัวแล้วไม่ต้องกลับเข้ามาทำงานอีก และโจทก์โทรศัพท์แจ้งนางชูศรีว่าจะกลับเข้าทำงานตามปกติ แสดงว่าโจทก์ทำกิจธุระส่วนตัวเสร็จก่อนเวลาเลิกงาน โจทก์มีหน้าที่ต้องกลับมาปฏิบัติหน้าที่ดังเดิม แต่โจทก์กลับใช้เวลาทำงานปกติไปดื่มสุราจนมึนเมา เป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาทกับบุคคลภายนอก โจทก์ดื่มสุราขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับจำเลยฉบับที่ ๔๖ ข้อ ๔.๗ วรรคแรก นับได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยสั่งลงโทษโจทก์เหมาะสมและชอบด้วยข้อบังคับแล้ว ประเด็นนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงยุติว่า โจทก์ดื่มสุราในระหว่างละทิ้งหน้าที่ไปทำธุระส่วนตัวนอกสถานที่ทำงาน มิใช่เสพสุราในเวลาปฏิบัติหน้าที่ และโทรศัพท์แจ้งเท็จต่อผู้บังคับบัญชาว่าธุระยังไม่เสร็จ เห็นว่า โจทก์ดื่มสุรานอกสถานที่ทำงานในช่วงเวลาที่โจทก์ได้ขออนุญาตด้วยวาจาต่อผู้บังคับบัญชาออกไปทำธุระส่วนตัว แม้การขออนุญาตดังกล่าวของโจทก์จะไม่ชอบด้วยระเบียบข้อบังคับเนื่องจากมิได้ขออนุญาตเป็นหนังสือ แต่ผู้บังคับบัญชาก็ได้อนุญาตด้วยวาจาแล้ว ส่วนกรณีที่จำเลยอ้างว่าโจทก์เมาสุราในเวลาทำงานและมีเหตุทะเลาะวิวาทกับนายสุทธิหรือแก้ว แป้วบุญสม ในบริเวณที่ทำงานของจำเลย ก็ปรากฏว่าการทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นเมื่อเวลา ๑๗.๓๐ นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาหลังเลิกงานแล้วโดยไม่ทำให้จำเลยเสียหายร้ายแรงตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว และแม้โจทก์โทรศัพท์แจ้งเท็จต่อผู้บังคับบัญชาว่าธุระยังไม่เสร็จ ก็ไม่ปรากฏว่าได้ทำให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรงเช่นเดียวกัน การกระทำดังกล่าวของโจทก์จึงไม่เป็นความผิดวินัยร้ายแรงตามข้อบังคับของจำเลย ข้อ ๔.๗ ข้อ ๔.๑๓ และข้อ ๔.๑๗ ซึ่งกำหนดให้เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงต่อเมื่อการกระทำของโจทก์ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่จำเลยด้วย
จำเลยอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า การสั่งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ศาลแรงงานกลางควรใช้ดุลพินิจตามที่บัญญัติในมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งจะต้องเป็นกรณีลูกจ้างมิได้กระทำผิดวินัยและถูกกลั่นแกล้งให้ออกจากงานโดยไม่เป็นธรรม แต่โจทก์กระทำผิดวินัยตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยและไม่มีข้อเท็จจริงว่าโจทก์ถูกกลั่นแกล้ง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เห็นว่า การเลิกจ้างกรณีเช่นใดจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ นั้น ศาลแรงงานสามารถวินิจฉัยได้โดยคำนึงถึงเหตุอันควรในการเลิกจ้าง ประกอบกับระเบียบข้อบังคับการทำงานซึ่งถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่ได้กระทำผิดระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง ทั้งข้อบังคับของจำเลยข้อ ๘ กำหนดให้การลงโทษไล่ออกกระทำได้ในกรณีที่พนักงานกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง เมื่อการกระทำของโจทก์ ไม่เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง จำเลยลงโทษไล่โจทก์ออกจากงานจึงไม่ชอบด้วยระเบียบข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน.