แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทมีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยโจทก์ได้รับมาตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ดังนั้นสิทธิของโจทก์ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์จะต้องเป็นไปตาม พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวมีข้อบังคับว่า ภายในกำหนดเวลาห้าปี นับแต่วันได้รับโฉนดที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินไปยังผู้อื่นมิได้นอกจากการตกทอดทางมรดก หรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณี ดังนั้น แม้ส.บุตรจำเลยจะซื้อที่ดินพิพาทจากผ. สามีโจทก์และรับมอบการครอบครองตั้งแต่วันที่ซื้อตลอดมา จนกระทั่งจำเลยรับโอนครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องมาถึงวันที่ยื่นคำร้องขอต่อศาลขอแสดงกรรมสิทธิ์ก็ตาม แต่จำเลยจะนำระยะเวลาก่อนวันที่พ้นระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมายมาเป็นระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หาได้ไม่ แม้จำเลยจะมีคำสั่งของศาลชั้นต้นถึงที่สุดแสดงว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและไม่ใช่คู่ความในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคสอง(2) โจทก์จึงสามารถพิสูจน์ได้ว่าโจทก์ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยโต้แย้งกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของตน โจทก์จึงชอบที่จะนำคดีมาฟ้องศาลได้ ไม่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตแต่อย่างใด คำสั่งศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ถึงที่สุดแล้ว ไม่อาจถูกเพิกถอนได้ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นด้วยจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาพิพากษายืน แต่ไม่เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1659 โดยได้รับที่ดินมาตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 จำเลยเป็นผู้ร้องในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 830/2531 ของศาลชั้นต้น ขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ตามที่จำเลยร้องขอโจทก์เห็นว่าคำร้องขอของจำเลยไม่เป็นความจริง ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 830/2531 และพิพากษาให้ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1659 ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้อง ให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดระยองยกเลิกกรรมสิทธิ์ของจำเลยในที่ดินแปลงดังกล่าว แล้วใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามเดิม
จำเลยให้การว่า เดิมโจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงพิพาทจริง แต่โจทก์ได้ขายกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยแล้วตั้งแต่ต้นปี 2519 โจทก์ได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แก่จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์อย่างเป็นเจ้าของเรื่อยมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว นับตั้งแต่ปี 2519 โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านจำเลยจึงยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอแล้วมีคำสั่งให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย ก่อนมีการไต่สวนคำร้องศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ประกาศนัดไต่สวนคำร้องทางหนังสือพิมพ์ตามระเบียบโดยชอบแล้ว โจทก์ไม่ใช้สิทธิโต้แย้งหรือคัดค้านที่ดินแปลงดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 830/2531 และให้ถือว่าที่ดินตามโฉนดเลขที่1659 ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้อง ให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดระยองใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวตามเดิม ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม6,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาครบสิบปี อันจะถือว่าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1659 โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้ว หรือไม่ ได้ความตามข้อความในภาพถ่ายโฉนดเลขที่ 1659 ว่าที่ดินแปลงนี้ผู้ถือกรรมสิทธิ์(โจทก์) ได้รับมาตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพพ.ศ. 2511 ดังนั้นสิทธิของโจทก์ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์จะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 12วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากการตกทอดโดยทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ แล้วแต่กรณี”ข้อเท็จจริงได้ความว่าทางราชการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวให้โจทก์เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2519 ระยะเวลาห้ามโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในห้าปีจึงมีอยู่จนถึงวันที่ 26 เมษายน 2524 แม้ว่า นายสายัณห์บุตรจำเลยจะซื้อที่ดินพิพาทจากจ่าสิบเอกผลสามีโจทก์และรับมอบการครอบครองตั้งแต่วันที่ซื้อคือวันที่ 5 เมษายน 2519 ตลอดมาจนกระทั่งจำเลยรับโอนครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องมาถึงวันที่ยื่นคำร้องขอต่อศาลขอแสดงกรรมสิทธิ์ จำเลยจะนำระยะเวลาก่อนวันที่พ้นระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมายมาเป็นระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ไม่ได้ ดังนั้นเมื่อนับระยะเวลาการครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่เมื่อพ้นระยะเวลาห้ามโอนกรรมสิทธิ์วันที่ 26 เมษายน 2524 ถึงวันที่ 20 กันยายน 2531 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ต่อศาลชั้นต้น จำเลยยังครอบครองที่ดินพิพาทไม่ครบสิบปีจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ คำสั่งศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 830/2531 จึงไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและไม่ใช่คู่ความในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145วรรคสอง(2) โจทก์จึงสามารถพิสูจน์ได้ว่าโจทก์ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยโต้แย้งกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของตน โจทก์จึงชอบที่จะนำคดีมาฟ้องศาลได้ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใดฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้น ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 830/2531 นั้น เห็นว่า คำสั่งศาลดังกล่าวถึงที่สุดแล้วไม่อาจถูกเพิกถอนได้
พิพากษายืน แต่ไม่เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 830/2531