แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และ ม. ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยในสัญญาซื้อขายระบุว่าได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยแต่ยังไม่ไปโอนกรรมสิทธิ์ เนื่องจากโจทก์ที่ 2 และที่ 5ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เมื่อบรรลุนิติภาวะแล้วจะโอนทันทีแสดงว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเท่านั้นเพราะยังมีข้อตกลงจะไปโอนกรรมสิทธิ์ในภายหลัง ดังนั้นตราบใดที่ยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์กันตามข้อตกลงในสัญญากรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังคงอยู่แก่โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าของเดิม ถึงจำเลยจะเป็นฝ่ายครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองแทนโจทก์ทั้งห้า จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง แม้ว่าศาลจะมีคำสั่งว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองแล้วก็ตาม ก็ไม่อาจยกขึ้นต่อสู้ยันกับโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทได้จำเลยไม่มีสิทธิที่จะขับไล่โจทก์ทั้งห้าออกจากที่ดินพิพาท
ย่อยาว
โจทก์ทั้งห้าฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 1363 โจทก์ที่ 1 กู้เงินจากนายอินปันใสรังกา สามีจำเลย โดยนำโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวมอบให้จำเลยและนายอินปันสามีจำเลยยึดถือไว้เป็นประกันและยอมให้จำเลยและสามีจำเลยเข้าทำประโยชน์โดยปลูกพืชล้มลุกในที่ดินได้ ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองและนำคำสั่งศาลไปจดทะเบียนที่ดินเป็นชื่อของจำเลยโดยโจทก์ทั้งห้าไม่ทราบ ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนถอนชื่อจำเลยออกจากโฉนดที่ดินเลขที่ 1363 แล้วใส่ชื่อโจทก์แทน ถ้าจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งกับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยซื้อที่ดินจากโจทก์ทั้งห้าและนายมา วงศ์สกุล โดยไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินโดยเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 26 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง และบังคับให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2พร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาท และรื้อถอนรั้วดังกล่าว
โจทก์ทั้งห้าให้การแก้ฟ้องแย้งยืนยันตามคำฟ้อง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1363 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิคำขอนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้ขับไล่โจทก์ที่ 1ที่ 2 พร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาท และให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันรื้อถอนรั้วออกจากที่ดินพิพาท
โจทก์ทั้งห้าฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักรับฟังได้มากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 3และนายมาขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยในปี 2510 จริง แต่เมื่อพิจารณาสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.6 แล้วสัญญาซื้อขายมีข้อความระบุว่าได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลย เหตุที่ยังไม่ไปโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนทันทีเนื่องจากโจทก์ที่ 2 และที่ 5 ยังไม่บรรลุนิติภาวะเมื่อบรรลุนิติภาวะแล้วจะโอนทันที ข้อความในสัญญาดังกล่าวจึงแสดงว่าสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย ล.6 เป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเท่านั้นเพราะยังมีข้อตกลงกันว่าจะไปโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกันต่อไป อันแสดงถึงเจตนาของคู่สัญญาว่าประสงค์ที่จะให้มีการโอนกรรมสิทธิ์กันโดยทางทะเบียนตราบใดที่ยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์กันตามข้อตกลงในสัญญา กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงยังคงอยู่แก่โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าของเดิม ถึงจำเลยจะเป็นฝ่ายครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งห้า แม้จะครอบครองนานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์เว้นแต่จำเลยจะแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครองโดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ทั้งห้าว่าไม่เจตนายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งห้าอีกต่อไป ระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์จึงเริ่มต้นนับแต่นั้น ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเป็นการครอบครองเพื่อตนเองและได้แสดงเจตนาดังกล่าวให้โจทก์ทั้งห้าทราบ จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองแม้ว่าศาลจะมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองแล้วก็ตามก็ไม่อาจยกขึ้นต่อสู้ยันกับโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทอยู่ได้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งห้ายังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอยู่ จำเลยไม่มีสิทธิที่จะขับไล่โจทก์ทั้งห้าออกจากที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งห้าฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น