คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7484/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นายทะเบียนบริษัทแห่งประเทศอังกฤษและเวลส์ได้จำหน่ายชื่อบริษัทโจทก์ออกทะเบียนเมื่อวันที่ 29 กันยายน2530 ตามมาตรา 652(5) แห่งพระราชบัญญัติบริษัทค.ศ.1958และได้เลิกบริษัทไปโดยลงแจ้งความในราชกิจจานุเบกษาแห่งกรุงลอนดอนเมื่อวันที่20ตุลาคม2530และมีบริษัทส.เป็นผู้ชำระบัญชี แต่ผู้ชำระบัญชีมิได้เข้ามาว่าต่างในนามของโจทก์ในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1259(1) อีกทั้งบริษัท อ. ซึ่งได้รับประกันภัยสินค้าของโจทก์และเป็นตัวแทนของโจทก์ก็ยังมีสิทธิในหนี้รายนี้อยู่เพราะได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ไปแล้วหลังจากที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ บริษัท อ. ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องเรียกเอาจำนวนเงินที่จ่ายให้แก่โจทก์จากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 880 วรรคแรก โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยรับผิดชำระหนี้รายนี้ได้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดที่ประเทศอังกฤษและเวลส์ มีวัตถุประสงค์ทำการค้าขาย โจทก์มอบอำนาจให้นายธวัชชัย โสวรัตนพงศ์และหรือนายวัลลภ สาครานนท์เป็นผู้ฟ้องและดำเนินการแทนโจทก์จำเลยเป็นบริษัทจำกัด โจทก์จำเลยประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศทำการค้าขายติดต่อกัน ในการสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ จำเลยจะเปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตไว้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด สำนักงานใหญ่ และจำเลยได้สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์โดยโจทก์ได้ส่งสินค้าดังกล่าวข้างต้น และจำเลยได้รับสินค้าดังกล่าวแล้ว และโจทก์ได้ออกตั๋วแลกเงินให้จำเลยชำระราคาสินค้าดังกล่าวผ่านธนาคาร จำเลยได้รับตั๋วแลกเงินดังกล่าวและรับรองว่าจะชำระเงินตามข้อความบนหน้าตั๋วแลกเงินทั้งสองฉบับครั้นเมื่อตั๋วแลกเงินทั้งสองฉบับถึงกำหนด แต่จำเลยไม่ชำระโจทก์ทวงถามหลายครั้ง จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระราคาสินค้าจำนวน 65,641.73 สวิสฟรังค์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ14.75 ต่อปี นับแต่วันออกตั๋วจนถึงวันครบกำหนดเป็นเวลา 5 เดือนคิดเป็นดอกเบี้ย 4,034.23 สวิสฟรังค์ กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ24.35 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 กันยายน 2524 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา2 ปี 8 เดือน คิดเป็นดอกเบี้ย 42,623.36 สวิสฟรังค์ รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ย 112,299.32 สวิสฟรังค์ คิดอัตราแลกเปลี่ยน1 สวิสฟรังค์ต่อ 10.04 บาท จะเป็นเงินไทย 1,127,485 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 24.35 ต่อปี ในต้นเงิน 65,641.73 สวิสฟรังค์(659,042.96 บาท) นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศอังกฤษ สำนักงานที่โจทก์อ้างไม่มีในประเทศอังกฤษขณะนี้โจทก์เป็นบุคคลล้มละลาย อำนาจในการดำเนินการและจัดการตกอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามกฎหมายของประเทศอังกฤษ โจทก์ ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์เรียกเอาค่าเสียหายจากบริษัทประกันภัยในประเทศอังกฤษแล้ว ถ้ามีหนี้บริษัทรับประกันภัยจะต้องเป็นผู้รับช่วงสิทธิโดยเป็นผู้ฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์ทำการวินิจฉัยตามประเด็นที่กำหนดไว้และพิพากษาใหม่ตามรูปคดีค่าธรรมเนียมทั้งสามศาล ให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเมื่อทำคำพิพากษาใหม่
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 65,641.73สวิสฟรังค์ แก่โจทก์ โดยให้คิดแลกเปลี่ยนเงินสวัสฟรังค์ ให้เป็นเงินตราของประเทศไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครทำการขายเงินสวิสฟรังค์ เป็นเงินตราของประเทศไทยในวันที่มีคำพิพากษานี้ ถ้าไม่มีอัตราการขายในวันนี้ ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราการขายเช่นว่านั้นก่อนวันพิพากษากับให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวอีกอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2524 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาข้อแรกว่าโจทก์ได้เลิกบริษัทแล้วและนายทะเบียนสำนักทะเบียนได้ลบชื่อบริษัทโจทก์ออกจากทะเบียนเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2530 โดยแจ้งโฆษณาในราชกิจจานุเบกษาแห่งกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2530 โจทก์จึงสิ้นสภาพเป็นนิติบุคคลตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2530 ซึ่งจำเลยเพิ่งทราบต่อมาระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนเรื่องการเลิกบริษัทของโจทก์ และการชำระบัญชีของบริษัทโจทก์ศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนในเรื่องดังกล่าวทางไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความตามเอกสารหมาย ล.บ.3 ของศาลชั้นต้นว่า นายทะเบียนแห่งประเทศอังกฤษและเวลส์ได้จำหน่ายชื่อบริษัทโจทก์ออกจากทะเบียนเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2530 ตามมาตรา 652(5)แห่งพระราชบัญญัติบริษัทค.ศ.1985 และได้เลิกบริษัทไปโดยลงแจ้งความในราชกิจจานุเบกษาแห่งกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม2530 และมีบริษัทสไปเซอร์ แอนด์ เพ็กเลอร์เป็นผู้ชำระบัญชีแต่ผู้ชำระบัญชีมิได้เข้ามาว่าต่างในนามของโจทก์ในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1259(1) แต่อย่างใด ตามทางไต่สวนข้อเท็จจริงยังได้ความตามคำเบิกความของนายวัลลภผู้รับมอบอำนาจโจทก์ประกอบกับเอกสารหมาย จ.1 ว่า บริษัทอี.ซี.จี.ดี.ซึ่งได้รับประกันภัยสินค้าของโจทก์และเป็นตัวแทนของโจทก์ ยังมีสิทธิในหนี้รายนี้อยู่เนื่องจากได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ไปแล้ว หลังจากที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคแรก บัญญัติว่าถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใดผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น เมื่อปรากฏว่าบริษัทอี.ซี.จี.ดี ผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ไปแล้ว บริษัทอี.ซี.จี.ดี ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องเรียกเอาจำนวนเงินที่จ่ายให้แก่โจทก์จากจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยรับผิดชำระหนี้รายนี้ได้อีก ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน อีกทั้งจำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การและศาลชั้นต้นก็ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทในข้อ 5แล้วว่าโจทก์ได้รับค่าเสียหายจากบริษัทประกันภัยแล้วหรือไม่เพียงใด
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share