คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2832/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาประกันภัยค้ำจุนมีเงื่อนไขกำหนดให้ผู้รับประกันภัยร่วมรับผิดกับผู้เอาประกันภัยก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยได้นำหลักฐานมาแสดงแก่ผู้รับประกันภัยว่าขณะเกิดเหตุคนขับรถยนต์ได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เงื่อนไขดังกล่าวตามสัญญามิได้ระบุชัดแจ้งว่า ให้ผู้รับประกันภัยหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาดังนั้นหากผู้เอาประกันภัยจะปฏิบัติผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยอย่างไร หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่ผู้รับประกันภัยจะว่ากล่าวเอาแก่ผู้เอาประกันภัยผู้เป็นคู่สัญญา แต่จะยกเหตุแห่งการผิดเงื่อนไขดังกล่าวมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและมีสิทธิได้รับประโยชน์ตามสัญญาระหว่างผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัยหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองกำแพงคอนกรีตเสาตอม่อ และราวเหล็กที่กิโลเมตร ๑๙ / ๒๘๕ บนทางหลวงหมายเลข ๓๑ วิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการ จำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ให้เป็นผู้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน สห.๐๓๙๔๗ ของจำเลยที่ ๒ เพื่อธุรกิจของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ ๓ เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันดังกล่าวของจำเลยที่ ๒ ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ ๑ ได้ขับขี่รถยนต์ของจำเลยที่ ๒ จากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าไปทางดอนเมืองบนถนนหลวงหมายเลข ๓๑ มาถึงที่เกิดเหตุด้วยความประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์เสียหลักพุ่งเข้าชนกำแพงคอนกรีต ราวแป๊ปเหล็กและเสาตอม่อสพานของโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงิน ๖,๗๐๐ บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันชดใช้เงินจำนวน ๖,๗๐๐ บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ๗ ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๓ ให้การและแก้ไขคำให้การว่า ตามข้อสัญญาประกันภัย จำเลยที่ ๒ มีหน้าที่นำหลักฐานมาแสดงต่อจำเลยเพื่อพิสูจน์ว่าคนขับรถยนต์ในขณะเกิดเหตุได้รับอนุญาตขับรถยนต์ถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยที่ ๓ จึงจะรับผิดตามสัญญาประกันภัย แต่จำเลยที่ ๒ ไม่เคยนำหลักฐานดังกล่าวมาแสดง กลับกล่าวอ้างและนำหลักฐานแสดงว่าบุคคลผู้มีชื่ออื่นเป็นผู้ขับขี่ และมีใบอนุญาตขับรถยนต์ถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ มิได้ประมาทแต่เกิดจากเหตุสุดวิสัย ค่าเสียหายไม่เกิน ๒,๐๐๐ บาท
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์ของจำเลยที่ ๒ ด้วยความประมาทชนทรัพย์สินของโจทก์เสียหายเป็นเงิน ๖,๗๐๐ บาท จำเลยที่ ๓ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งสองด้วย จะยกเอาเงื่อนไขในสัญญาประกันภัยมาต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อยกเว้นความรับผิดหาได้ไม่ พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงิน ๖,๗๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ และร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๔๐๐ บาท
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ ๓ ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ ๒๐๐ บาท
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาว่าจำเลยที่ ๓ จะยกเอาเงื่อนไขตามสัญญาประกันภัยที่กำหนดให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๒ ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ ๒ ได้นำหลักฐานมาแสดงแก่จำเลยที่ ๓ ว่าขณะเกิดเหตุคนขับรถยนต์ได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ถูกต้องตามกฎหมายมาต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้หรือไม่ เห็นว่าเงื่อนไขที่จำเลยที่ ๓ ยกขึ้นต่อสู้นั้น ตามสัญญามิได้ระบุชัดแจ้งว่าให้จำเลยที่ ๓ หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญา ดังนั้นหากจำเลยที่ ๒ ผู้เอาประกันภัยจะปฏิบัติผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยอย่างไรหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจะว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ ๒ ผู้เป็นคู่สัญญาแต่จะยกเหตุแห่งความผิดเงื่อนไขดังกล่าวมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและมีสิทธิได้รับประโยชน์ตามสัญญาระหว่างจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ หาได้ไม่ จำเลยที่ ๓ จึงต้องรับผิดตามสัญญา
พิพากษายืน โจทก์มิได้แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความให้

Share