คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7481/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่ผู้เยาว์มีผลประโยชน์หรือส่วนได้ส่วนเสียศาลจะต้องกำหนดให้มีผู้พิพากษาสมทบสองคนซึ่งอย่างน้อยคนหนึ่งต้องเป็นสตรีเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีด้วย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 24 ประกอบมาตรา 109 วรรคสอง ปรากฏตามสำนวนคดีนี้ได้ความว่าการพิจารณาคดีในแต่ละนัดบางครั้งก็มีลายมือชื่อผู้พิพากษาสมทบ 2 คนบ้าง หรือคนเดียวบ้างเป็นองค์คณะ และบางครั้งก็ไม่มีลายมือชื่อผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะเลย ซึ่งจำเลยทั้งสามได้ทราบเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางซึ่งเป็นศาลชั้นต้นนั้นมาโดยตลอด หากจำเลยทั้งสามเห็นว่าศาลชั้นต้นดังกล่าวมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องในการพิจารณาคดีอันเป็นการพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบ จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่เสียหายจะต้องยื่นคำคัดค้านก่อนมีคำพิพากษาแต่ต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่จำเลยทั้งสามได้ทราบการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 เมื่อจำเลยทั้งสามมิได้คัดค้านจนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยทั้งสามจะมาฎีกาโต้แย้งในภายหลังหาชอบไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยที่ 3 เป็นบุตรของโจทก์ ให้เพิกถอนอำนาจปกครองของจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนเพิกถอนอำนาจปกครองบุตรต่อนายทะเบียน หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติให้ยึดเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ให้โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 3 โดยให้จำเลยที่ 3 อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เด็กชายศุภณัฐ จำเลยที่ 3 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ ให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 3 ร่วมกัน โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 3 บุตรผู้เยาว์เพียงฝ่ายเดียว แต่ให้โจทก์มีสิทธิเยี่ยมจำเลยที่ 3 บุตรผู้เยาว์ได้ตามสมควร กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า การพิจารณาคดีและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ชอบ เพราะไม่มีผู้พิพากษาสมทบนั่งพิจารณาคดีให้ครบองค์คณะ ขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 24 ทั้งขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 236 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่ผู้เยาว์มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสีย ศาลจะต้องกำหนดให้มีผู้พิพากษาสมทบสองคนซึ่งอย่างน้อยคนหนึ่งต้องเป็นสตรีเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีด้วย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 24 ประกอบมาตรา 109 วรรคสอง ปรากฏตามสำนวนได้ความว่า นัดสืบพยานโจทก์นัดแรก ศาลให้เลื่อนคดีเพื่อหมายเรียกจำเลยทั้งสามมาเจรจาไกล่เกลี่ย ไม่ปรากฏว่ามีลายมือชื่อผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะ นัดสืบพยานโจทก์นัดที่สองจึงปรากฏลายมือชื่อผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะ 2 คน ส่วนนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยในนัดอื่น ๆ บางครั้งก็มีลายมือชื่อผู้พิพากษาสมทบ 2 คนบ้าง หรือคนเดียวบ้างเป็นองค์คณะ และบางครั้งก็ไม่มีลายมือชื่อผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะเลย ซึ่งจำเลยทั้งสามได้ทราบเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางซึ่งเป็นศาลชั้นต้นนั้นมาโดยตลอด หากจำเลยทั้งสามเห็นว่าศาลชั้นต้นดังกล่าวมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องในการพิจารณาคดีดังที่ได้ฎีกาอันเป็นการพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบ จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่เสียหายจะต้องยื่นคำคัดค้านก่อนมีคำพิพากษาแต่ต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่จำเลยทั้งสามได้ทราบการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 เมื่อจำเลยทั้งสามมิได้คัดค้านจนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยทั้งสามจะมาฎีกาโต้แย้งในภายหลังหาชอบไม่…
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share