คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 748/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่จำเลยหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร สิทธิของกรมศุลกากรโจทก์ที่ 1 ที่จะเรียกเงินอากรที่ขาดจึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา10 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ดังนั้น จะนำอายุความสิบปีและการนับอายุความ โดยเริ่มนับจากวันที่นำของเข้าตามมาตราดังกล่าวมาใช้บังคับหาได้ไม่ จึงต้องใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167 เดิม (มาตรา 193/31)และการนับอายุความก็ต้องให้นับเริ่มแต่ขณะที่จะอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 เดิม(มาตรา 193/12) เงินเพิ่มภาษีการค้านั้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิกำหนดเงื่อนไขสำคัญว่า มิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามใบขนสินค้าแต่ละฉบับนับแต่วันตรวจปล่อยจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยมิได้ระบุว่าเงินเพิ่มภาษีการค้ามิให้เกินกว่าจำนวนภาษีการค้าที่ต้องชำระเพิ่มโดยไม่รวมเบี้ยปรับ จึงไม่ถูกต้อง และเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างเดือนมกราคม 2515 ถึงเดือนมกราคม2518 จำเลยได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ณ ด่านศุลกากรท่าเรือกรุงเทพมหานครจำนวน 41 ฉบับ เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยชำระอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล โดยคิดจากราคาสินค้าที่จำเลยแสดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้า และตกลงปล่อยสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าจำนวน 41 ฉบับ ให้จำเลยนำออกไปจากอารักขาของศุลกากรแล้ว ต่อมาเมื่อปี 2518 โจทก์ที่ 1 ได้ตรวจพบว่าสินค้าที่จำเลยนำเข้ามาตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 41 ฉบับ มีราคาอันแท้จริงในวันนำเข้าสูงกว่าราคาที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าดังกล่าว เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 จึงได้ทำการประเมินเรียกเก็บภาษีอากร ให้จำเลยชำระเพิ่มโดยคิดค่าอากรตามราคาอันแท้จริง เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 ได้แจ้งผลการประเมินให้จำเลยทราบและให้นำเงินภาษีอากรเพิ่มเติมในส่วนที่ขาดอยู่สำหรับสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 41 ฉบับ มาชำระแก่โจทก์ที่ 1 จำเลยได้รับแจ้งการประเมินแล้ว ไม่ชำระภาษีอากรเพิ่มเติมให้ครบถ้วนภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน ขอให้บังคับจำเลยชำระภาษีอากรและเงินเพิ่มรวมทั้งสิ้น 1,240,914.71 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง และให้ชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนในต้นเงินภาษีอากรขาเข้าที่ขาดอยู่สำหรับอากรขาเข้า 468,732.69 บาท ภาษีการค้า 127,018.55บาท ภาษีบำรุงเทศบาล 12,701.82 บาท นับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2527จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ใบขนสินค้าขาเข้ารายการที่ 18, 19, 32, 33และ 34 นั้น เป็นของบุคคลอื่นมิใช่ของจำเลย คำฟ้องของโจทก์ที่อ้างว่าราคาที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าต่ำกว่าราคาอันแท้จริงนั้น โจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าคือราคาอะไรและเป็นราคาที่คงอยู่เมื่อใดณ สถานที่ใด จำเลยไม่อาจจะเข้าใจคำฟ้องของโจทก์ได้ จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม สินค้าของจำเลยที่โจทก์อ้างว่าจำเลยนำเข้านั้นโจทก์ที่ 1 ได้ทำการเทียบราคาสินค้าที่นำเข้ากับราคาประเมินของโจทก์ที่ 1 จนเป็นที่พอใจแล้วประทับตรารับรองบัญชีราคาสินค้าของจำเลยว่า “พอใจบัญชีราคาสินค้าแล้ว” หรือ “ตรวจสอบบัญชีราคาสินค้าแล้ว” และได้ทำการตรวจปล่อยสินค้าให้แก่จำเลยไปจนหมดสิ้นแล้วจึงไม่มีอำนาจที่จะทำการประเมินราคาสินค้าของจำเลยภายหลังอีกได้ บรรดาเอกสารต่าง ๆ ที่โจทก์ที่ 1 ยึดไปจากบริษัทจำเลย เช่น “ใบเสนอราคาสินค้า” (โปรฟอร์มาอินวอยส์) เป็นเอกสารของผู้ขายในต่างประเทศเสนอราคาสินค้าที่จะทำการซื้อขายมาให้แก่จำเลย โจทก์ที่ 1 ไม่อาจจะนำมาอ้างเป็นเหตุที่ประเมินเรียกเก็บภาษีอากรเพิ่มจากจำเลยได้ เพราะมิใช่ราคาอันแท้จริงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายศุลกากร จำเลยไม่เคยได้รับแจ้งการประเมินเพิ่มจากโจทก์ที่ 1 หรือได้รับการทวงถามจากโจทก์ที่ 1 ให้ชำระค่าภาษีอากรโจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกร้องอากรขาเข้าและเงินภาษีจากจำเลยตามใบขนสินค้าขาเข้าทุกฉบับ คดีของโจทก์จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม จำเลยสำแดงราคาสินค้าเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากรในใบขนสินค้าขาเข้ารวม 36 ฉบับ โจทก์ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบแล้ว คดีที่ฟ้องให้ชำระเงินค่าภาษีอากร แม้ว่ากรณีนั้นจะต้องด้วยบทกำหนดโทษทางอาญา แต่ก็ไม่ใช่หนี้ที่มีมูลหนี้จากการกระทำความผิดอาญาจึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จะนำอายุความในคดีอาญามาใช้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 ไม่ได้ เฉพาะสิทธิเรียกร้องตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 12275 และ 12276ยังไม่เกิน 10 ปี ส่วนสิทธิเรียกร้องตามใบขนสินค้าขาเข้านอกจากนี้เกิน 10 ปีแล้ว แต่จำเลยได้ยอมรับสภาพหนี้และสละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.14 จำเลยจึงต้องรับผิดตามจำนวนเงินที่ปรากฏในเอกสารฉบับดังกล่าว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ทั้งสอง 457,446.07 บาท พร้อมด้วยเงินเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือนจากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2520 จนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม จำเลยสำแดงราคาสินค้าต่ำกว่าราคาอันแท้จริง โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกภาษีอากรส่วนที่ขาดจากจำเลยได้จนครบ แม้จะปล่อยสินค้าไปจากอารักขาของกรมศุลกากรแล้วก็ตาม โจทก์ได้แจ้งการประเมินแก่จำเลยแล้ว คดีที่โจทก์ฟ้องเรียกให้ชำระค่าภาษีอากร มิใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และการฟ้องเรียกค่าภาษีอากรที่ขาดในกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงอากร เพราะเหตุอันเกี่ยวกับราคาแห่งของเช่นนี้พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคสาม ได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะแล้ว คือมีกำหนด 10 ปี ความรับผิดในอันที่จะต้องเสียภาษีสำหรับของที่นำเข้าเกิดขึ้นตั้งแต่เวลาที่นำของเข้าสำเร็จตามมาตรา 10 ทวิ วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469โจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องตั้งแต่วันที่นำของออกจากอารักขาของศุลกากร เฉพาะสินค้าตามใบขนเลขที่ 12275 และ 12276 ยังไม่ขาดอายุความ แต่สินค้าตามใบขนฉบับอื่น ๆ นอกจากนี้โจทก์ฟ้องเมื่อเกิน10 ปีนับแต่วันปล่อยของจากอารักขาศุลกากร จึงขาดอายุความ และเอกสารหมาย จ.14 ไม่เป็นหนังสือรับสภาพหนี้หรือการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความ พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรส่วนที่ขาดเฉพาะที่เกิดจากใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 12276 ลงวันที่8 กรกฎาคม 2517 และเลขที่ 12275 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2517 แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมทั้งเงินเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือนจากเงินที่ต้องรับผิดตามใบขนสินค้าขาเข้าดังกล่าว นับแต่วันที่ 9 และ 10กรกฎาคม 2517 ตามลำดับ จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์เพียงประเด็นเดียวว่า คดีโจทก์เกี่ยวกับการให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรเพิ่มในส่วนที่ขาดจนครบตามใบขนสินค้าขาเข้าจำนวน36 ฉบับดังกล่าว นอกจากใบขนสินค้าขาเข้าฉบับเลขที่ 12275 และ 12276ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฎีกาโต้เถียงอ้างเหตุว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความหลายประการ เห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาโจทก์ที่โต้เถียงว่าสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องเรียกค่าภาษีอากรที่จำเลยหลีกเลี่ยงไม่ขาดอายุความเพราะไม่อยู่ในบังคับของอายุความตามมาตรา 10วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 เสียก่อน เห็นว่าคดีนี้เป็นกรณีหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร สิทธิของโจทก์ที่ 1 ที่จะเรียกเงินอากรที่ขาดจึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 10 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ดังนั้น จะนำอายุความสิบปีและการนับอายุความโดยเริ่มนับจากวันที่นำของเข้าตามมาตราดังกล่าวมาใช้บังคับหาได้ไม่ จึงต้องใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167 เดิม (มาตรา 193/31 ที่แก้ไขใหม่) ที่บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องของรัฐบาลเพื่อเอาค่าภาษีอากรท่านให้มีกำหนดอายุความสิบปี” และการนับอายุความก็ต้องให้นับเริ่มแต่ขณะที่จะอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 169 เดิม (มาตรา 193/12 ที่แก้ไขใหม่) โจทก์ตรวจพบว่าราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าต่ำกว่าราคาที่ตรวจสอบได้จากเอกสารที่ยึดมาจากจำเลยเมื่อปี 2518 แล้วเจ้าหน้าที่กองประเมินอากรของโจทก์ที่ 1 ได้ทำการประเมินเรียกเก็บภาษีอากรเพิ่มในส่วนที่ขาดตามที่ตรวจพบจากจำเลยและได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบตามเอกสารหมาย จ.10 แล้ว จึงเป็นกรณีที่โจทก์จะอาจบังคับสิทธิเรียกร้องค่าภาษีอากรเพิ่มในส่วนที่ขาดจนครบถ้วนได้นับแต่วันที่ตรวจพบ ซึ่งนับจากต้นปี 2518 ที่โจทก์ตรวจพบการหลีกเลี่ยงภาษีอากรถึงวันฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2527ยังไม่เกินสิบปี คดีโจทก์เกี่ยวกับให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรเพิ่มในส่วนที่ขาดจนครบตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 36 ฉบับ จึงยังไม่ขาดอายุความ เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว คดีก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ที่อ้างเหตุอื่น ๆ อีกแต่อย่างใด และเมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาและจำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านฟังได้ว่าราคาที่ซื้อขายกันระหว่างจำเลยกับผู้ขายในต่างประเทศตามที่ปรากฏในเอกสารที่ยึดได้จากจำเลยเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด อีกทั้งโจทก์ได้นำราคานั้นมาประเมินราคาสินค้าตามใบขนสินค้าพิพาททั้ง36 ฉบับ เพิ่มขึ้น และแจ้งการประเมินให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลส่วนที่ขาดสำหรับใบขนสินค้าพิพาททั้ง 36 ฉบับ พร้อมด้วยเงินเพิ่มภาษีอากรดังกล่าวให้แก่โจทก์ ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
อนึ่ง สำหรับเงินเพิ่มภาษีการค้านั้น ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 89 ทวิ กำหนดเงื่อนไขสำคัญว่า มิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล สำหรับใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 12275/8.7.17 และเลขที่ 12276/8.7.17 นับแต่วันตรวจปล่อยตามใบขนสินค้าแต่ละฉบับดังกล่าว จนกว่าจะชำระเสร็จโดยมิได้ระบุว่าเงินเพิ่มภาษีการค้ามิให้เกินกว่าจำนวนภาษีการค้าที่ต้องชำระเพิ่มโดยไม่รวมเบี้ยปรับจึงไม่ถูกต้อง และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรส่วนที่ขาด ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ประเมินเพิ่มขึ้น สำหรับใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเลขที่ 1053/15.3.15 เลขที่1946/28.6.15 เลขที่ 1470/24.10.15 เลขที่ 1474/24.10.15เลขที่ 470/8.12.15 เลขที่ 1204/15.1.16 เลขที่ 1027/20.2.16เลขที่ 2036/30.3.16 เลขที่ 1136/18.4.16 เลขที่ 1740/27.4.16เลขที่ 629/11.5.16 เลขที่ 1339/21.5.16 เลขที่ 1696/24.5.16เลขที่ 1475/22.6.16 เลขที่ 12114/26.6.16 เลขที่ 1870/28.6.16เลขที่ 2042/29.6.16 เลขที่ 1681/26.7.16 เลขที่ 569/11.9.16เลขที่ 1486/24.10.16 เลขที่ 4/1.11.16 เลขที่ 125/2.11.16เลขที่ 1620/20.11.16 เลขที่ 1205/18.12.16 เลขที่ 1206/18.12.16เลขที่ 121/3.1.17 เลขที่ 1113/15.1.17 เลขที่ 1144/15.1.17เลขที่ 1333/16.1.17 เลขที่ 1468/21.3.17 เลขที่ 1713/26.3.17เลขที่ 155/1.4.17 เลขที่ 156/1.4.17 เลขที่ 157/1.4.17 เลขที่12275/8.7.17 และเลขที่ 12276/8.7.17 ให้แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมทั้งเงินเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือนจากเงินที่ต้องรับผิด ตามใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้าทั้ง 36 ฉบับดังกล่าวข้างต้น นับแต่วันที่ตรวจปล่อยตามใบขนฯ แต่ละฉบับดังกล่าวเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแต่เฉพาะเงินเพิ่มภาษีการค้ามิให้เกินกว่าจำนวนภาษีการค้าที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับ

Share