แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ตายในระหว่างอายุความอุทธรณ์สิทธินำคดีอาญามาฟ้องสำหรับจำเลยนั้นย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 ดังนั้น เมื่อคดีมาสู่ศาลฎีกาศาลฎีกาย่อมจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ตาย
ในระหว่างอายุความฎีกาได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2518 ออกใช้บังคับซึ่งมาตรา 5 แห่ง พระราชบัญญัติดังกล่าวให้โอกาสแก่ผู้มีอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนหรือวัตถุระเบิดสำหรับใช้เฉพาะในการสงครามนำมามอบให้นายทะเบียนท้องที่ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ พระราชบัญญัติใช้บังคับผู้นั้นไม่ต้องรับโทษดังนั้นแม้จำเลยที่ 4 จะมีอาวุธปืนสำหรับใช้เฉพาะการสงครามไว้ในครอบครอง จำเลยที่ 4 ก็ได้รับยกเว้นโทษตามกฎหมายและเป็นเหตุในลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาต่อมาก็ได้รับประโยชน์จากบทกฎหมายดังกล่าวด้วยศาลฎีกาจึงพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 4
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันมีอาวุธปืนสำหรับใช้เฉพาะในการสงครามไว้ในครอบครอง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 2, 3, 4 ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1, 2, 4 มีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกคนละ 12 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้คงจำคุก 6 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายในระหว่างอายุความอุทธรณ์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 จึงให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2ส่วนคดีของจำเลยอื่นปรากฏว่าในระหว่างอายุความฎีกาได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 ออกใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้โอกาสแก่ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด สำหรับใช้เฉพาะการสงคราม นำมามอบให้นายทะเบียนท้องที่ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ดังนั้น แม้จะฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 4 มีอาวุธปืนสำหรับใช้เฉพาะการสงครามตามฟ้องไว้ในครอบครองจำเลยที่ 4 ก็ได้รับยกเว้นโทษตามบทกฎหมายดังกล่าว และเป็นเหตุในลักษณะคดีแม้จำเลยที่ 1 จะมิได้อุทธรณ์ฎีกาต่อมาก็ได้ประโยชน์จากบทกฎหมายดังกล่าวนี้ด้วย
พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และที่ 4