แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อน ในวันนัดสืบพยานโจทก์จำเลยไม่มาศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาและได้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวจนเสร็จสิ้นแล้ว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาย่อมถือได้ว่าจำเลยขาดนัดทั้งสองฐานะ คือทั้งที่เป็นจำเลยและที่เป็นโจทก์ฟ้องแย้งด้วยเมื่อโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนได้นำพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์ไปจนเสร็จสิ้นแล้ว จึงถือได้ว่าโจทก์ในฐานะจำเลยฟ้องแย้งได้แจ้งให้ศาลทราบโดยปริยายว่าโจทก์ในฐานะจำเลยฟ้องแย้งได้ขอดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 201 (เดิม) แล้ว การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียวและพิพากษาคดีในส่วนฟ้องแย้งจึงชอบด้วยกฎหมาย หาใช่ต้องจำหน่ายคดีสำหรับฟ้องแย้งของจำเลยออกจากสารบบความไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกไปจากอาคารที่เช่าให้จำเลยชำระเงินจำนวน 248,150 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 240,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 24,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากอาคารที่เช่า
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์คืนเงินมัดจำจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ไขฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารขนย้ายสิ่งของออกไปจากอาคารเลขที่ 4296 และให้จำเลยชำระค่าเช่าเป็นเงินจำนวน 8,000 บาท กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายสิ่งของออกไปจากอาคารดังกล่าวคำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา
ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มและนำเงินค่าธรรมเนียมที่จะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด จำเลยไม่ปฏิบัติตามภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำหน่ายอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยออกจากสารบบความยกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์คำพิพากษาของจำเลยว่า จำเลยไม่จงใจขาดนัดพิจารณาแล้วพิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่เป็นการไม่ชอบเพราะศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำหน่ายอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยออกจากสารบบความแล้วจึงไม่มีประเด็นเรื่องจำเลยจงใจขาดนัดพิจารณาหรือไม่ตามอุทธรณ์คำสั่งจำเลยอีกแม้จำเลยจะกล่าวอ้างปัญหาดังกล่าวมาในอุทธรณ์คำพิพากษาของจำเลยก็เป็นอุทธรณ์นอกเหนือจากคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากอาคารพิพาทซึ่งโจทก์อ้างว่ามีค่าเช่าเดือนละ 24,000 บาท จำเลยให้การต่อสู้ว่าค่าเช่ามีเพียงเดือนละ 2,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างชำระแก่โจทก์เดือนละ 2,000 บาท โจทก์ไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงจึงฟังยุติว่าอาคารพิพาทมีค่าเช่าเดือนละ 2,000 บาท ในส่วนฟ้องแย้งนั้นจำเลยมีคำขอบังคับท้ายฟ้องแย้งขอให้โจทก์คืนเงินมัดจำจำนวน 50,000 บาท แก่จำเลย พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ดังนั้น คดีตามฟ้องเดิมของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยจึงต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่งและวรรคสอง อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า จำเลยไม่จงใจขาดนัดพิจารณาก็ดี พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดชำระค่าเช่าและโจทก์ยังไม่ได้คืนเงินมัดจำให้แก่จำเลยก็ดี ล้วนแต่เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้หรือรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ข้อเท็จจริงได้หรือได้รับอนุญาตจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยไม่จงใจขาดนัดพิจารณาแล้วพิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายฎีกาโจทก์ฟังขึ้น สำหรับปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อที่ว่า เมื่อจำเลยขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับฟ้องแย้งของจำเลยจากสารบบความ การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัย เมื่อปรากฏว่าคดีนี้ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงและคงมีปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยอยู่เพียงประการเดียว เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสำนวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยสำหรับข้อกฎหมายที่ว่า ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีโจทก์ในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยไปฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาคดีไป โดยไม่จำหน่ายคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อน ในวันนัดสืบพยานโจทก์จำเลยไม่มาศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาและได้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวจนเสร็จสิ้นแล้ว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาย่อมถือได้ว่าจำเลยขาดนัดทั้งสองฐานะ คือทั้งที่เป็นจำเลยและที่เป็นโจทก์ฟ้องแย้งด้วยเมื่อโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนได้นำพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์ไปจนเสร็จสิ้นแล้ว จึงถือได้ว่าโจทก์ในฐานะจำเลยฟ้องแย้งได้แจ้งให้ศาลทราบโดยปริยายว่าโจทก์ในฐานะจำเลยฟ้องแย้งได้ขอดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 (เดิม) แล้ว การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียวและพิพากษาคดีในส่วนฟ้องแย้งจึงชอบด้วยกฎหมาย หาใช่ต้องจำหน่ายคดีสำหรับฟ้องแย้งของจำเลยออกจากสารบบความดังที่จำเลยเข้าใจไม่
อนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแย้งโดยมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้ง และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาคดีโดยมิได้สั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนอุทธรณ์คำพิพากษาที่จำเลยเสียเกินมาจำนวน 50 บาท ให้แก่จำเลย เป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษากลับให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 50 บาท ให้แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องแย้งในศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ