แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2467 มาตรา 27, 27 ทวิ เกี่ยวโยงไปถึงพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 17 ที่บัญญัติว่า “ของใดๆ อันเนื่องด้วยความผิดตาม มาตรา 27 ฯลฯ ท่านให้ริบเสียสิ้น ฯลฯ” ฟ้องโจทก์จึงเป็นการฟ้องร้องคดีอันเกี่ยวด้วยของซึ่งต้องยึด เพราะไม่เสียภาษีตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 100 ซึ่งถ้าโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงได้ว่าของกลางเป็นของต่างประเทศซึ่งต้องเสียภาษีแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องพิสูจน์ต่อไปว่าของกลางดังกล่าวได้เสียภาษีถูกต้องแล้ว
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ที่แก้ไขเพิ่มเติมบัญญัติให้ลงโทษปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ เป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วมิใช่ให้ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ แล้วแบ่งปรับเป็นรายบุคคลคนละเท่าๆ กัน หรือปรับเป็นรายบุคคลคนละสี่เท่าของราคาของรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ดังนั้นการที่ศาลสั่งปรับจำเลยสามคนเป็นเงินสี่เท่าของราคาของรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว เป็นเงิน 1,280,832 บาท จึงเป็นการชอบแล้ว แต่ที่ให้แบ่งปรับคนละ 426,944 บาทนั้นย่อมเป็นการไม่ถูกต้องตาม มาตรา 27 ดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยร่วมกันนำสินค้าหลายรายการเข้ามาในราชอาณาจักร อันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๒๗, ๒๗ ทวิ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๖, ๑๖, ๑๗ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๓ (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๔ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ และริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๖ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๓ จำคุกจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ คนละสองปี ปรับจำเลยทั้งสามเป็นเงินสี่เท่าของราคาของตามบัญชีทรัพย์ของกลางอันดับ ๑-๒๐ รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเป็นเงิน ๑,๒๘๐,๘๓๒ บาท โดยให้แบ่งปรับคนละ ๔๒๖,๙๔๔ บาท โดยจำคุกให้รอไว้ห้าปี ริบของกลางอันดับ ๑-๒๐
จำเลยทั้งสามและโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าหน้าที่พิสูจน์ตกอยู่แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่าโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗, ๒๗ ทวิ เกี่ยวโยงไปถึงพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๑๗ ที่บัญญัติว่า “ของใดๆ อันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา ๒๗ ฯลฯ ท่านให้ริบเสียสิ้น ฯลฯ” ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องร้องคดีอันเกี่ยวด้วยของซึ่งต้องยึดเพราะไม่เสียภาษีตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๑๐๐ ซึ่งถ้าโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงได้ว่าของกลางเป็นของต่างประเทศที่ต้องเสียภาษีแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะพิสูจน์ต่อไปว่าของกลางดังกล่าวได้เสียภาษีถูกต้องแล้ว กรณีหาใช่ว่าปัญหาตามฟ้องโจทก์ไม่ตรงกับพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๑๐๐ ดังจำเลยฎีกาโต้เถียงไม่
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยนำของกลางตามรายการท้ายฟ้องอันดับ ๑-๒๔ เข้ามาในราชอาณาจักร โดยพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้เสียภาษีอากรแล้ว หรือของดังกล่าวได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี แล้ววินิจฉัยต่อไปว่า
สำหรับสินค้าอันดับ ๑ ถึง ๒๐ ที่ศาลอุทธรณ์ปรับจำเลยทั้งสามเป็นเงินสี่เท่าของราคาของรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว เป็นเงิน ๑,๒๘๐,๘๓๒ บาทนั้นชอบแล้ว แต่ที่ให้แบ่งปรับคนละ ๔๒๖,๙๔๔ บาทนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเพราะพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ ที่แก้ไขเพิ่มเติมบัญญัติให้ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ มิใช่ให้ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ แล้วแบ่งปรับเป็นรายบุคคลคนละเท่าๆ กัน ดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา หรือปรับเป็นรายบุคคล คนละสี่เท่าของราคาของรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วดังที่โจทก์ฎีกา
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ได้กำหนดโทษจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และทั้งจำทั้งปรับ จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนดห้าปีนั้น เห็นว่าจำเลยน่าจะหลาบจำแล้ว ไม่มีเหตุที่จะแก้ไขดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ตามฎีกาของโจทก์ที่ขอไม่ให้รอการลงโทษจำเลย
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ปรับจำเลยทั้งสามรวมกันเป็นเงินสี่เท่าของราคาของตามบัญชีทรัพย์ของกลางท้ายฟ้องอันดับ ๑ ถึง ๒๔ รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว เป็นเงิน ๑,๓๒๑,๑๓๖ บาท ริบของกลางตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องอันดับ ๑ ถึง ๒๔ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์