คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7471/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองจะแยกต่างหากจากกันได้และค่าเสียหายในส่วนของโจทก์ที่ 2 มีทุนทรัพย์ไม่เกิน40,000 บาท ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงก็ตามแต่มูลหนี้หรือสิทธิเรียกร้องในค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ในคราวเดียวกันโจทก์ทั้งสองย่อมมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีโจทก์ทั้งสองจึงฟ้องคดีร่วมกันได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างหรือคำสั่งของจำเลยที่ 2 ไปตามถนนจรัญสนิทวงศ์ ด้วยความประมาทโดยจำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดชนรถยนต์ตู้ที่โจทก์ที่ 1 ขับ เป็นเหตุให้รถยนต์ตู้ได้รับความเสียหายและโจทก์ที่ 2 ซึ่งโดยสารมาด้วยได้รับบาดเจ็บ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3ผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 95,180 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 89,340 บาท และชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 5,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 5,270 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ที่ 2ไม่มีอำนาจฟ้องต่อศาลแพ่งเพราะทุนทรัพย์ในการฟ้องคดีของโจทก์ที่ 2 มีเพียง 5,600 บาท และเหตุที่เกิดเป็นเพราะความประมาทของคนขับรถยนต์ตู้มิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงิน 60,340 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 และชำระเงิน 500 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อแรกว่า โจทก์ที่ 2 เรียกร้องค่าเสียหายมาเพียง5,600 บาท ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวง ศาลแพ่งจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของโจทก์ที่ 2 ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้ค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองจะแยกต่างหากจากกันได้และค่าเสียหายในส่วนของโจทก์ที่ 2 มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 40,000 บาทซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงก็ตาม แต่มูลหนี้หรือสิทธิเรียกร้องในค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ในคราวเดียวกัน โจทก์ทั้งสองย่อมมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องคดีร่วมกันได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 ศาลแพ่งจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของโจทก์ที่ 2 ได้ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share