คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7470/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ทรัพย์สินที่จะต้องริบตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 30 นั้น ต้องเป็นทรัพย์สินที่ถูกนำมาใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดด้วยเท่านั้น และจากนิยามความหมายของคำว่า “การกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” ตามมาตรา 3 มิได้บัญญัติให้รวมเอาการกระทำความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตเข้าไว้ในความหมายของคำว่า “การกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” ด้วย ดังนั้น ที่จำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตเพียงสถานเดียวจึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะนำมาตรา 30 มาใช้บังคับได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งริบรถยนต์ของกลางให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 มาตรา 30, 31

ศาลชั้นต้นประกาศนัดไต่สวนคำร้องตามกฎหมาย

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องและคืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามคำร้องผู้คัดค้านถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมฐานมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน45 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์กระบะนิสสันหมายเลขทะเบียน บ – 9038 ศรีสะเกษเป็นของกลาง ต่อมาผู้ร้องเป็นโจทก์ฟ้องผู้คัดค้านฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3227/2540คดีหมายเลขแดงที่ 9149/2541 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่าจำเลย(ผู้คัดค้าน) มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ปรากฏในสำนวน ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องมีว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่ เห็นว่า คดีดังกล่าวศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1693/2544 ระหว่างพนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ (ผู้ร้อง) กับนายวิชัย พุทธรัตน์ จำเลย(ผู้คัดค้าน) โดยศาลชั้นต้นแจ้งการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2544 โดยศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษจำเลยหนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลย 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีดังกล่าวจึงถึงที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น แต่บรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะเครื่องจักรกล หรือทรัพย์สินอื่นใดที่จะต้องริบตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534มาตรา 30 นั้น จะต้องได้ความว่า เครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกลหรือทรัพย์สินนั้น ๆ ถูกนำมาใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดด้วยเท่านั้น และจากนิยามความหมายของคำว่า “การกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด”ตามมาตรา 3 แห่งกฎหมายฉบับเดียวกันนี้ มิได้บัญญัติให้รวมเอาการกระทำความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตเข้าไว้ในความหมายของคำว่า “การกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดด้วย” ดังนั้น ที่จำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตเพียงสถานเดียว จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะนำพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534มาตรา 30 มาใช้บังคับได้ ผู้ร้องจะร้องขอให้ริบรถยนต์ของกลางมิได้ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกคำร้องจึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share