แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคแรกนั้น มีความหมายว่า บรรดาที่หลวงทั้งหลายซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 ก็ดี หรือที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตามธรรมดาไม่ใช่ทรัพย์นอกพาณิชย์ และไม่ใช่ทรัพย์ที่จะถือเอาหรือโอนกันไม่ได้เหล่านี้ก็ดี ถ้าไม่มีกฎหมายพิเศษได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นแล้ว ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมที่ดินดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกัน เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะมอบหมายให้ทบวงการเมืองอื่นเป็นผู้ใช้ก็ได้
ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคท้าย ซึ่งบัญญัติว่า”บรรดาที่ดินดังกล่าวในวรรคแรกนั้น เมื่อมีเหตุผลอันสมควร รัฐมนตรีมีอำนาจที่จะจัดขึ้นทะเบียนเป็นของทบวงการเมืองได้……” นั้น หมายความว่าถ้ารัฐเห็นสมควรจะให้ทบวงการเมืองใดรับผิดชอบดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันเอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็มีอำนาจที่จะจัดขึ้นทะเบียนเป็นของทบวงการเมืองนั้นๆ ได้
ที่ดินที่ขึ้นทะเบียนเป็นของทบวงการเมืองอื่นไว้แล้วแต่เดิมก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับนั้น ไม่มีคำสั่งกำหนดว่าให้ปฏิบัติอย่างไร และในทางปฏิบัติบรรดาที่ดินราชพัสดุที่ขึ้นทะเบียนไว้ต่อกระทรวงการคลังกระทรวงการคลังก็คงใช้อำนาจปกครองอยู่เช่นเดิม ทั้งนี้เพราะถือได้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้จัดขึ้นทะเบียนเป็นของกระทรวงการคลังแล้วโดยอนุโลมตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 8 วรรคท้าย ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองสิทธิของกระทรวงการคลังว่ายังคงมีอำนาจปกครองที่ดินที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุไว้แล้วต่อไปตามเดิมอำนาจของกระทรวงการคลังจึงมิได้ถูกยกเลิกเพิกถอนไปโดยประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคแรก ที่พิพาทได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุของกระทรวงการคลังแล้ว กระทรวงการคลังโจทก์ที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้องได้
การเปลี่ยนชื่อกระทรวงทบวงกรมต่างๆ จะทำได้ก็โดยตราขึ้นเป็นกฎหมาย ฉะนั้นจึงเป็นข้อที่ศาลรับรู้ได้เองว่ากระทรวงพระคลังฯ นั้นคือกระทรวงการคลัง
กำแพงเมืองและคูเมืองเป็นทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ แม้ต่อมากำแพงจะถูกรื้อทำลายลง และคูเมืองตื้นเขินขึ้นก็ตาม แต่ทางราชการก็ได้ถือว่าเป็นที่หลวงหวงห้ามตลอดมา ไม่ยอมให้ราษฎรยึดถือเอาเป็นเจ้าของแม้จะขอเช่าก็ต้องได้รับอนุญาตก่อน ดังนี้ กำแพงเมืองและคูเมืองจึงยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเพราะเป็นที่สงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน
แม้นายอำเภอจะได้ทำนิติกรรมซื้อขายที่พิพาทให้จำเลย ก็ไม่ทำให้จำเลยได้สิทธิในที่พิพาท เพราะที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งจะโอนแก่กันมิได้ และจะยกอายุความขึ้นต่อสู้แผ่นดินไม่ได้
การได้สิทธิจดทะเบียนภารจำยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1312 นั้น จะต้องเป็นการสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต แต่ที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่ใช่ทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดาหรือของเอกชน จะนำมาใช้บังคับในกรณีนี้หาได้ไม่ดังนั้น แม้จำเลยจะปลูกสร้างโดยสุจริตก็ตาม จำเลยก็ไม่มีสิทธิขอให้จดทะเบียนภารจำยอมได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 20/2511)
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 มีหน้าที่ปกครองที่ดินราชพัสดุของหลวงหรือรัฐบาลทั่วราชอาณาจักร โจทก์ที่ 2 มีหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกัน ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินภายในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์
ที่ราชพัสดุหมายเลขทะเบียนที่หลวงในกระทรวงการคลัง เลขที่18744 มีอาณาเขตภายในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ แต่เดิมเป็นคูเมืองซึ่งทางราชการในสมัยก่อนได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่บ้านเมือง ต่อมาเมื่อประมาณ 40 ปีมานี้ ทางราชการในขณะนั้นถือว่าที่ดินในบริเวณคูเมืองนี้เป็นที่ดินราชพัสดุ สมควรสงวนและหวงห้ามไว้ ได้ประกาศให้ประชาชนทราบแล้ว ที่ดินแปลงนี้จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่หลวงไว้ ตามกระแสร์พระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6
เมื่อประมาณ 15 ปีมานี้ จำเลยได้บุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองเพื่อตนแล้วถมดินในที่ดินแปลงนี้ และได้ปลูกอาคารตึกแถวทำเป็นโรงแรมและร้านค้าขายตลอดมาจนทุกวันนี้ ซึ่งจำเลยเองก็รู้อยู่ว่าเดิมเป็นคูเมืองซึ่งทางราชการถือว่าเป็นที่ดินราชพัสดุ ต่อมาเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้ยื่นคำขอรังวัดที่ดินแปลงนี้เพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง จำเลยคัดค้านอ้างว่าเป็นที่ดินของจำเลย
ขอให้แสดงว่าที่ดินแปลงนี้เป็นที่ดินราชพัสดุ ห้ามจำเลยคัดค้านการออกหนังสือสำคัญ และขับไล่จำเลยกับบริวาร พร้อมทั้งรื้อถอนอาคารตึกแถว สิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ออกไปจากที่ดินด้วย
จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 8 เป็นอำนาจของจังหวัดและเทศบาล แม้จะมีพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ตามหากการจดทะเบียนของโจทก์ภายหลังวันประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพระบรมราชโองการนั้นก็เลิกไปโดยประมวลกฎหมายที่ดิน การจดทะเบียนที่หลวงนั้นไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้ว่า ทำให้เอกชนเสียสิทธิในที่ดินไปได้
จำเลยซื้อที่พิพาทมาจากผู้มีชื่อ ทำนิติกรรมต่อเจ้าพนักงานต้องตามกฎหมายและมีสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินแล้ว ก่อนจำเลยจะซื้อคณะกรรมการจังหวัดสุรินทร์เคยกล่าวอ้างว่า ที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินมาครั้งหนึ่งแล้ว จากการสอบสวนและวินิจฉัยของกระทรวงมหาดไทยให้ระงับเรื่องเสีย เพราะไม่มีหลักฐาน แม้ว่าที่ดินจะเป็นของโจทก์ การที่โจทก์ยินยอมให้จำเลยปลูกตึกสามชั้น 15 คูหา ห้องแถวไม้ 2 ชั้น 20 ห้อง รวมราคา 2,000,000 บาท โดยเชื่อว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยโจทก์มีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเพิ่มราคาของที่ดินให้แก่จำเลย ที่พิพาทจำเลยซื้อราคา 40,000 บาท ขณะนี้ราคาถึง 700,000 บาท
ที่พิพาทเป็นของโจทก์ไม่ได้เพราะเคยมีคำพิพากษาและคดีถึงที่สุดว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนมาแล้ว ขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย ห้ามมิให้โจทก์เข้าไปรอนสิทธิหรือถ้าฟังว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์ก็มีภาระต้องให้จำเลยได้ใช้ไปจนกว่าสิ่งปลูกสร้างในที่ดินสลายไป (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312) ให้โจทก์ไปจดทะเบียนภารจำยอมให้จำเลย หากไม่ไปให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่าโจทก์ไม่จำต้องรับภารจำยอมตามฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 มีอำนาจฟ้องได้แต่เห็นว่าที่พิพาทไม่ใช่คูเมือง จึงไม่ใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 มีอำนาจฟ้องได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจ และฟังว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจึงพิพากษาแก้เป็นว่า ห้ามไม่ให้จำเลยคัดค้านการออกหนังสือสำคัญให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่พิพาท พร้อมกับให้รื้ออาคารตึกแถวห้องแถวและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่พิพาท ให้ยกฟ้องแย้งจำเลยส่วนข้อที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 2 คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาว่า
1. โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้อง
2. ที่พิพาทไม่เข้าลักษณะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
3. แม้จะฟังว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์ก็มีภาระโดยกฎหมายต้องให้จำเลยได้ใช้ไปจนกว่าสิ่งปลูกสร้างในที่ดินจะสลายไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312
ในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องนั้นศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ได้มีพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ให้รวบรวมที่ดินของหลวงในกระทรวงต่าง ๆ มาขึ้นทะเบียนราชพัสดุไว้ทางกระทรวงพระคลังฯ เสียทางเดียวเพื่อปกครองให้เป็นหลักฐานสืบไป ฉะนั้นโดยอาศัยอำนาจตามพระบรมราชโองการดังกล่าวแล้วกระทรวงพระคลังฯ ซึ่งต่อมาก็คือกระทรวงการคลังนั่นเองเป็นผู้มีอำนาจดูแลรักษาที่หลวงที่ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นของกระทรวงใด ๆ ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 8 วรรคแรกนั้นหมายความว่าบรรดาที่หลวงทั้งหลายซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 ก็ดี หรือที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตามธรรมดาไม่ใช่ทรัพย์นอกพาณิชย์ และไม่ใช่ทรัพย์ที่จะถือเอาหรือโอนกันไม่ได้เหล่านี้ก็ดี ถ้าไม่มีกฎหมายพิเศษได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นแล้วก็เป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมที่ดินดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกัน เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะมอบหมายให้ทบวงการเมืองอื่นเป็นผู้ใช้ก็ได้ดังนั้นในวรรคท้ายของมาตรา 8 นั้นเองจึงได้บัญญัติมีความหมายว่า บรรดาที่ดินดังกล่าวในวรรคแรก ถ้ารัฐเห็นสมควรจะให้ทบวงการเมืองใดรับผิดชอบดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันเอง รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยก็มีอำนาจที่จะจัดขึ้นทะเบียนเป็นของทบวงการเมืองนั้น ๆ ได้ เมื่อประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้วางระเบียบปฏิบัติสำหรับการจัดที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นของทบวงการเมืองอื่นตามความในมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินมีใจความว่า ถ้ามีการขอที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นของทบวงการเมืองใดซึ่งกระทรวงมหาดไทยสั่งมาก็ดี หรือทบวงการเมืองอื่นติดต่อมาก็ดีหรือเป็นเรื่องที่ทางจังหวัดอำเภอพิจารณาเห็นสมควรก็ดี ให้นายอำเภอดำเนินการสอบสวน เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นสมควรจะได้จัดขึ้นทะเบียนไว้ในนามของส่วนราชการนั้น ๆ ส่วนที่ดินที่ขึ้นทะเบียนเป็นของทบวงการเมืองอื่นไว้แล้วแต่เดิมก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ไม่มีคำสั่งกำหนดว่าจะให้ปฏิบัติอย่างไร และในทางปฏิบัติบรรดาที่ดินราชพัสดุที่ขึ้นทะเบียนไว้ต่อกระทรวงการคลังกระทรวงการคลังก็คงใช้อำนาจปกครองอยู่เช่นเดิม ทั้งนี้เพราะถือได้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้จัดขึ้นทะเบียนเป็นของกระทรวงการคลังตามความหมายแห่งมาตรา 8 วรรคท้ายของประมวลกฎหมายที่ดินแล้วโดยอนุโลม อำนาจของกระทรวงการคลังจึงมิได้ถูกยกเลิกเพิกถอนไปโดยประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคแรก แต่ตรงกันข้ามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคท้ายกลับเป็นบทบัญญัติที่รับรองสิทธิของกระทรวงการคลังว่ายังคงมีอำนาจปกครองที่ดินที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุไว้แล้วต่อไปตามเดิม สำหรับที่พิพาทได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุของกระทรวงการคลัง กระทรวงการคลังโจทก์ที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้องได้
ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม พ.ศ. 2506 มาตรา 9 นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายทั่วไปที่กำหนดอำนาจและหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินของกระทรวงและทบวงการเมืองต่าง ๆ ย่อมไม่ลบล้างอำนาจของกระทรวงการคลังโจทก์ที่ 1 ซึ่งได้ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 8 วรรคท้าย อันเป็นกฎหมายพิเศษ ส่วนที่จำเลยคัดค้านว่า ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาขยายชื่อกระทรวงพระคลังฯ มาเป็นกระทรวงการคลัง เพราะเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องและคำให้การ ศาลฎีกาเห็นว่าการเปลี่ยนชื่อกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ จะกระทำได้โดยตราขึ้นเป็นกฎหมาย จึงเป็นข้อที่ศาลจะรับรู้เองว่ากระทรวงพระคลังตามพระบรมราชโองการนั้น คือกระทรวงการคลังโจทก์ที่ 1
สำหรับประเด็นที่ว่า ที่พิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่นั้น ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า กำแพงเมืองชั้นนอกมีคูเมืองสองชั้น คือมีทั้งคูชั้นนอกและคูชั้นใน ที่พิพาทเป็นคูเมืองชั้นในของกำแพงเมืองชั้นนอก กำแพงเมืองและคูเมืองเป็นที่ซึ่งได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่บ้านเมือง ต่อมาคูเมืองได้ตื้นเขิน ทางราชการยอมให้ราษฎรทำนาแซงได้เป็นบางปีที่มีการอดอยาก แต่ไม่อนุญาตให้เข้ายึดถือ ในปี พ.ศ. 2469 ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ได้มีหนังสือถึงนายอำเภอเมือง ให้เรียกราษฎรที่ยึดถืออยู่ในเขตคูเมืองทั้งสองฟากมาทำสัญญาเช่า ถ้าขัดขืนให้ไต่สวนส่งอัยการต่อไป ต่อมา พ.ศ. 2470 สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมาได้มีคำสั่งแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์เรื่องที่ดินราชพัสดุของหลวงซึ่งอยู่ในบริเวณสันกำแพงและคูเมืองในท้องที่อำเภอเมืองสุรินทร์ว่า ได้มีพวกพ่อค้าและราษฎรพากันปลูกบ้านเรือนโรงทำการค้าขายในที่ดินเหล่านี้มากขึ้นเห็นสมควรสงวนและหวงห้ามที่ดินในเขตดังกล่าวนี้ไว้เพื่อประโยชน์ในราชการภายหน้า ฉะนั้น กาลต่อไปเมื่อมีผู้ใดจะขอเช่าที่ดินสันกำแพงเมืองก็ดีหรือคูเมืองก็ดี หรือที่ดินด้านใดอยู่ใกล้เขตกำแพงเมืองก็ตาม ต้องบอกชี้แจงแสดงเหตุผลให้มณฑลพิจารณาก่อนทุก ๆ ราย และเมื่อได้รับคำสั่งแล้วจึงจะจัดการได้ต่อไป ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า กำแพงเมืองและคูเมืองสุรินทร์เป็นทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์แผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินมาแต่โบราณกาลแม้ต่อมากำแพงเมืองจะถูกรื้อทำลายลง และคูเมืองตื้นเขินขึ้น แต่ทางราชการก็ได้ถือว่าเป็นที่หลวงหวงห้ามตลอดมา ราษฎรจะเข้ายึดถือเอาเป็นเจ้าของไม่ได้ ดังนี้ กำแพงเมืองและคูเมืองสุรินทร์จึงยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพราะเป็นที่สงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 และแม้จะมีคำพิพากษา คดีถึงที่สุดรับรองว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนคำพิพากษานั้นก็ใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ เพราะโจทก์พิสูจน์ได้ว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของโจทก์ และการที่อำเภอได้ทำนิติกรรมซื้อขายที่พิพาทจากพระชัยปริญญาให้จำเลยนิติกรรมนั้นก็ใช้ไม่ได้ เพราะสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะโอนแก่กันมิได้ และจะยกอายุความขึ้นต่อสู้แผ่นดินไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305, 1306
ปัญหาข้อสุดท้ายที่ว่า โจทก์มีภาระต้องให้จำเลยใช้ที่พิพาทต่อไปจนกว่าสิ่งปลูกสร้างจะสลายไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าการได้สิทธิจดทะเบียนภารจำยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 นั้น จะต้องเป็นการสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต แต่ที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่ใช่ทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดา หรือของเอกชน กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าวจะนำมาใช้บังคับในกรณีนี้ไม่ได้ แม้จะฟังว่าจำเลยปลูกสร้างโดยสุจริต จำเลยก็ไม่มีสิทธิขอให้จดทะเบียนภารจำยอมได้ พิพากษายืน