แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด โดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ในราคาต่ำเกินสมควรอันเนื่องมาจากความไม่สุจริตหรือการฉ้อฉลหรือความประมาทอย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง นั้น ในวรรคสามของมาตราดังกล่าวให้นำวรรคห้าของมาตรา 296 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 296 วรรคห้า บัญญัติว่า “ในการยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรานี้ หากมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่อาจได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวร้องขอ ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวน และภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด เพื่อประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลนั้นได้ ถ้าผู้ยื่นคำร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสีย คำสั่งของศาลที่ออกตามความในวรรคนี้ให้เป็นที่สุด” บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินหรือหาประกันต่อศาลเพื่อประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลที่อาจได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวร้องขอศาลชั้นต้นจะต้องไต่สวนก่อน แต่กำหนดให้ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจโดยพิจารณาว่ามีพยานหลักฐานเบื้องต้นที่แสดงว่าคำร้องของผู้ร้องไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้าหรือไม่ เมื่อทนายโจทก์แถลงว่า คำร้องของผู้ร้องไม่มีมูลและผู้ร้องยื่นคำร้องเพื่อประวิงคดีให้ชักช้า ขอให้ผู้ร้องนำเงินมาวางเพื่อเป็นประกันค่าเสียหายจำนวน 300,000 บาท การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินประกันค่าเสียหายจำนวน 300,000 บาท ภายใน 15 วัน โดยไม่ไต่สวนก่อนไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่ผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นแล้ว คำสั่งยกคำร้องดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคห้า
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 78462 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 22/65 ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ของจำเลยให้แก่นายสกลวัฒน์ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2555 ในราคา 2,650,000 บาท เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวในวันนัดไต่สวนคำร้องนัดแรกวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 ทนายผู้ร้องขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 8 ธันวาคม 2557 โดยมีคำสั่งให้ผู้ร้องเสียค่านำส่งหมายนัดให้ผู้ซื้อทรัพย์ทราบภายใน 7 วัน และให้ผู้ร้องวางเงินประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ 300,000 บาท ภายใน 15 วัน ครั้งถึงวันนัดดังกล่าวผู้ร้องไม่มาศาล ศาลชั้นต้นเห็นว่าผู้ร้องไม่มาศาล ไม่วางเงินประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนตามคำสั่งศาล ไม่นำหมาย (ที่ถูก ไม่เสียค่าธรรมเนียมในการส่งหมาย) ให้ผู้ซื้อทรัพย์ ไม่ติดใจดำเนินคดีและไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นว่ามีเหตุให้เพิกถอนการขายทอดตลาดคำร้องหรือไม่ จึงมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน แต่ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ค่าคำร้องเป็นพับ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ผู้ร้องฎีกาว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ผู้ร้องวางเงินประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลผู้อาจได้รับความเสียหายจากการยื่นคำร้องเพิกถอนการขายทอดตลาดของผู้ร้อง โดยยังมิได้ไต่สวนก่อนมีคำสั่งดังกล่าวเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้น คำสั่งศาลชั้นต้นจึงยังไม่ถึงที่สุดนั้น เห็นว่า การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด โดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ในราคาต่ำเกินสมควรอันเนื่องมาจากความไม่สุจริตหรือการฉ้อฉลหรือความประมาทอย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง นั้น ในวรรคสามของมาตราดังกล่าวให้นำวรรคห้าของมาตรา 296 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 296 วรรคห้า บัญญัติว่า “ในการยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรานี้ หากมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่อาจได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวร้องขอศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวน และภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด เพื่อประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลนั้นได้ ถ้าผู้ยื่นคำร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสีย คำสั่งของศาลที่ออกตามความในวรรคนี้ให้เป็นที่สุด” บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินหรือหาประกันต่อศาลเพื่อประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลที่อาจได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวร้องขอศาลชั้นต้นจะต้องไต่สวนก่อน แต่กำหนดให้ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจโดยพิจารณาว่ามีพยานหลักฐานเบื้องต้นที่แสดงว่าคำร้องของผู้ร้องไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้าหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 ว่า ทนายโจทก์แถลงว่า คำร้องของผู้ร้องไม่มีมูลและผู้ร้องยื่นคำร้องเพื่อประวิงคดีให้ชักช้า ขอให้ผู้ร้องนำเงินมาวางเพื่อเป็นประกันค่าเสียหายจำนวน 300,000 บาท การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินประกันค่าเสียหายจำนวน 300,000 บาท ภายใน 15 วัน โดยไม่ไต่สวนก่อนจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่ผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นแล้ว คำสั่งยกคำร้องดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคห้า ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องเกี่ยวกับคำสั่งศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องเสียค่าธรรมเนียมในการส่งหมายนัดให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์เป็นการไม่ชอบเพราะประเด็นดังกล่าวอาจเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ร้องเพราะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลนั้น เห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า คำสั่งยกคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของผู้ร้องของศาลชั้นต้นเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคห้า ประกอบมาตรา 309 ทวิ วรรคสาม ผู้ร้องไม่มีสิทธิจะอุทธรณ์ต่อไปอีก ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องในประเด็นดังกล่าวหรือไม่ ย่อมไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เห็นว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิอุทธรณ์ อุทธรณ์ของผู้ร้องไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 (1) โดยไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ