แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายนำรถยนต์เข้าไปจอดในบริเวณสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินค่าจอดรถจากผู้เสียหาย การที่จำเลยพูดกับผู้เสียหายว่าถ้าไม่จ่ายค่าจอดรถจะตบและจำเลยนำเก้าอี้ขวางกั้นมิให้ผู้เสียหายขับรถยนต์ออกไป ถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน เมื่อผู้เสียหายไม่ยอมให้เงินแก่จำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2543 เวลาประมาณ 6 นาฬิกา จำเลยทั้งสามร่วมกันข่มขืนใจนางพรทิพย์ผู้เสียหาย ให้ยอมมอบเงินให้ 20 บาท อันเป็นประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแก่จำเลยทั้งสาม โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อร่างกาย เสรีภาพ และทรัพย์สินของผู้เสียหาย โดยนำเก้าอี้มาวางขวางหน้ารถยนต์ของผู้เสียหายเพื่อมิให้รถยนต์ของผู้เสียหายเคลื่อนที่ เคาะรถยนต์ของผู้เสียหายและพูดจาข่มขู่จะทำร้ายร่างกายผู้เสียหายและจะทำอันตรายรถยนต์ของผู้เสียหาย จนผู้เสียหายยอมเช่นว่านั้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 92, 337 เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 337 (ที่ถูก 337 วรรคแรก) ให้จำคุกไว้มีกำหนดคนละ 1 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 หนึ่งในสามคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นางพรทิพย์ผู้เสียหายนำรถยนต์ไปจอดในบริเวณสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ จำเลยทั้งสามเข้ามาเรียกเก็บเงินค่าจอดรถ แต่ผู้เสียหายไม่ให้และโทรศัพท์แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจมาจับกุมจำเลยทั้งสาม คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่า วันเกิดเหตุผู้เสียหายนำรถยนต์ไปจอดในบริเวณสถานีขนส่งสายใต้ใหม่เพื่อรับสินค้าที่ฝากมากับรถโดยสารประจำทางปรับอากาศสายเพชรบุรี-กรุงเทพมหานคร หลังจากรับสินค้าแล้วระหว่างผู้เสียหายจะขับรถยนต์ออกไป จำเลยที่ 2 เดินเข้ามาเคาะกระจกรถพร้อมกับบอกให้ผู้เสียหายชำระค่าจอดรถ แต่ผู้เสียหายไม่ยอมชำระและขับรถยนต์ออกไป เมื่อใกล้จะถึงทางออกจำเลยที่ 1 นำเก้าอี้มากั้นขวางทางออก จำเลยที่ 2 วิ่งตามมาแล้วเคาะกระจกพร้อมกับบอกว่า “ให้จ่ายค่าจอดรถ 20 บาท ถ้าไม่จ่ายจะตบ” โดยมีจำเลยที่ 3 ยืนคุมเชิงอยู่บริเวณนั้น ผู้เสียหายไม่ยอมให้และโทรศัพท์แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจหลังจากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจมายังที่เกิดเหตุจับกุมจำเลยทั้งสามและโจทก์มีสิบตำรวจตรีสุวิทย์เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมเบิกความว่า เมื่อพยานมาถึงที่เกิดเหตุ ผู้เสียหายแจ้งว่าถูกจำเลยทั้งสามข่มขู่ให้ผู้เสียหายชำระเงินค่าจอดรถ 20 บาท เห็นว่า พยานทั้งสองเบิกความสอดคล้องต้องกันมีรายละเอียดสมเหตุสมผลโดยไม่มีข้อพิรุธ และพยานทั้งสองไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสามมาก่อน จึงเชื่อว่าพยานทั้งสองเบิกความตามความเป็นจริง จำเลยทั้งสามฎีกายอมรับว่าจำเลยที่ 2 ได้พูดขู่ว่าถ้าผู้เสียหายไม่ชำระค่าจอดรถจะถูกตบอันเป็นการเจือสมกับ คำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวข้างต้น นายบัณฑิตพยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทขนส่ง จำกัด ประจำอยู่ที่สถานีขนส่งสายใต้ใหม่เบิกความว่าตามปกติทางสถานีขนส่งสายใต้ใหม่จะอนุญาตให้บุคคลภายนอกนำรถยนต์เข้ามาจอดในบริเวณสถานีขนส่งได้โดยไม่เก็บค่าจอดรถ และตามสัญญาต่างตอบแทนเพื่อก่อสร้างสถานีขนส่งสายใต้ระหว่างบริษัทขนส่ง จำกัด กับนายสกุลเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 7 ระบุว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงแบ่งที่ดินในส่วนของตนตามแนวเขตที่ดินที่ติดต่อกันฝ่ายละ 5 เมตร นับจากเส้นแนวเขตที่ดินของแต่ละฝ่ายตลอดแนวเขตที่ดินโดยรอบเพื่อร่วมกันก่อสร้างถนนคอนกรีตขนาดกว้าง 10 เมตร เพื่อใช้เป็นทางสัญจรของรถยนต์นั่งและสัญญาข้อ 10 ระบุว่า เพื่อประโยชน์ของคู่สัญญาและประชาชนทั่วไป ให้คู่สัญญามีอำนาจจัดการจราจรในถนนตามข้อ 7 ร่วมกัน และให้แต่ละฝ่ายมีอำนาจจัดการจราจรในถนนเส้นอื่นในที่ดินส่วนตน เห็นได้ว่าตามสัญญาดังกล่าวเพียงแต่ให้อำนาจบริษัทขนส่ง จำกัด กับนายสกุลซึ่งเป็นผู้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ใช้ปลูกสร้างสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ร่วมกันจัดการจราจรในถนนซึ่งใช้เป็นทางสัญจรเข้า-ออกเท่านั้น โดยมิได้ให้สิทธิจัดหาผลประโยชน์ส่วนตน ดังนั้น ทางฝ่ายเจ้าของที่ดินเดิมหรือตัวแทนจึงไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินค่าจอดรถในถนนดังกล่าว ทั้งตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.2 ปรากฏว่าผู้เสียหายนำรถยนต์ไปจอดในถนนทางเข้าสถานีขนส่งซึ่งเป็นถนนที่บริษัทขนส่ง จำกัด กับเจ้าของที่ดินเดิมมีสิทธิใช้และจัดการจราจรร่วมกัน การที่จำเลยทั้งสามเรียกเก็บเงินค่าจอดรถจากผู้เสียหายโดยอ้างว่าเป็นที่ส่วนบุคคลของบริษัทสกุลชัยและสถานนท์ จำกัด นายจ้างของตนจึงมิชอบด้วยกฎหมาย หากจำเลยทั้งสองเห็นว่าบริษัทดังกล่าวมีสิทธิโดยชอบที่จะเรียกเก็บเงินค่าจอดรถได้และถ้าผู้เสียหายไม่ยอมชำระ จำเลยทั้งสามก็ควรแจ้งให้บริษัทนายจ้างของตนดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายตามกฎหมาย การที่จำเลยที่ 2 พูดกับผู้เสียหายว่าถ้าไม่จ่ายค่าจอดรถจะตบและจำเลยทั้งสามร่วมกันนำเก้าอี้ขวางกั้นมิให้ผู้เสียหายขับรถยนต์ออกไปจากบริเวณที่เกิดเหตุ ถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินอันเป็นความผิดฐานกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก เมื่อผู้เสียหายไม่ยอมให้เงินแก่จำเลยทั้งสาม การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานพยายามกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80 ที่จำเลยทั้งสามฎีกาอ้างว่า การเรียกเก็บเงินจากผู้เสียหายเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ในฐานะลูกจ้างของบริษัทสกุลชัยและสถานนท์ จำกัด การที่จำเลยที่ 2 ใช้คำพูดว่าถ้าผู้เสียหายไม่ให้เงินจะถูกตบ เป็นคำพูดที่เกิดจากอารมณ์โกรธที่มีสาเหตุจากการโต้เถียงกับผู้เสียหายนั้น เห็นว่า ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาขอให้ลงโทษในสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นภัยต่อสังคมโดยรวม มีลักษณะเป็นอันธพาลข่มเหงรังแกประชาชนที่ไปใช้บริการในสถานีขนส่งผู้โดยสารสาธารณะ จึงไม่มีเหตุสมควรลงโทษในสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสาม ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 จำเลยที่ 2 จึงได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติดังกล่าวและถือว่าจำเลยที่ 2 มิเคยถูกลงโทษในความผิดฐานช่วยเหลือคนต่างด้าวตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 583/2541 ของศาลจังหวัดทุ่งสง ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามกฎหมายไม่ได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี ยกคำขอเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์