แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ผู้เสียหายกับจำเลยที่ 1 ตกลงกันให้จำเลยที่ 1 นำบัตรสินเชื่อเกษตรกรของผู้เสียหายไปใช้ซื้อสินค้า เมื่อขายสินค้าได้ จำเลยที่ 1 จะมอบเงินสดให้แก่ผู้เสียหาย ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จำหน่ายสินค้าแล้วแต่เรียกเก็บเงินไม่ได้ จึงไม่สามารถนำเงินมาคืนให้แก่ผู้เสียหายตามที่ตกลงกัน ทำนองว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ไม่ได้วินิจฉัยในข้อเท็จจริงดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นฎีกาได้ เพราะไม่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 ถือเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 83, 91, 188, 335, 269/5, 269/6, 269/7 นับโทษจำเลยทั้งสองต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1863-1869/2559 และ 1871/2559 ของศาลชั้นต้น กับบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4399/2558 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษของจำเลยทั้งสองในคดีนี้
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยทั้งสองในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อและบวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 335 (7) วรรคแรก, 269/5, 269/6 ประกอบมาตรา 269/7, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันลักทรัพย์และฐานร่วมกันเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 8,000 บาท ฐานร่วมกันมีไว้เพื่อนำออกใช้และฐานร่วมกันใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5 ประกอบมาตรา 269/7 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 20,000 บาท รวมจำคุกคนละ 3 ปี และปรับคนละ 28,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 14,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 3 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลยทั้งสองไว้มีกำหนดคนละ 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี ให้จำเลยทั้งสองกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยทั้งสอง (ที่ถูก ไม่ต้องระบุ และจำเลยทั้งสอง) เห็นสมควร เป็นเวลาคนละ 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ จำคุกคนละ 1 ปี ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน จำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท เมื่อรวมโทษกับความผิดฐานอื่นแล้วเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 12 เดือน จำเลยที่ 2 มีกำหนด 12 เดือน และปรับ 14,000 บาท ไม่ปรับ ไม่รอการลงโทษและไม่คุมความประพฤติจำเลยที่ 1 นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2108-2109/2559 และ 2111-2114/2559 ของศาลชั้นต้น ให้ยกคำขอให้บวกโทษเนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้บวกโทษไปแล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2108/2559 ของศาลชั้นต้น และยกคำขอให้นับโทษต่อในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1865/2559 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากศาลชั้นต้นรอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองและโจทก์มิได้อุทธรณ์คดีดังกล่าว กับยกคำขอให้นับโทษต่อในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1871/2559 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2116/2559 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยังมิได้มีคำพิพากษา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ผู้เสียหายเป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 และมีข้อตกลงกันว่าผู้เสียหายมอบบัตรสินเชื่อเกษตรกรให้จำเลยที่ 1 นำไปซื้อสินค้าทางการเกษตรมาจำหน่ายที่ร้านของจำเลยที่ 1 เมื่อจำหน่ายได้ผู้เสียหายจะได้รับเงินสดนำไปใช้จ่าย แต่ภายหลังจำเลยที่ 1 จำหน่ายสินค้าแล้ว แต่เรียกเก็บเงินไม่ได้จึงไม่สามารถคืนเงินให้แก่ผู้เสียหายได้ ทำนองว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 เพิ่งยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นในชั้นฎีกา ซึ่งเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ไม่ได้วินิจฉัยในข้อเท็จจริงดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นฎีกาได้ เพราะไม่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 ถือเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยที่ 1 ขอให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 นำบัตรสินเชื่อเกษตรกรที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรออกให้แก่ผู้เสียหายเพื่อชำระค่าสินค้า ค่าบริการ หรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด ไปซื้อสินค้าโดยมิชอบ เป็นเงินสูงถึง 49,995 บาท ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เป็นไปโดยไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย และก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ทั้งยังปรากฏว่ามีผู้เสียหายที่ถูกจำเลยที่ 1 กระทำและได้รับความเสียหายในลักษณะเดียวกันนี้อีกหลายราย พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ส่วนที่จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายจนเป็นที่พอใจแก่ผู้เสียหายแล้ว ก็เป็นแต่เพียงการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิด แม้จำเลยที่ 1 ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน และมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว หรือมีเหตุอื่นดังที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างในฎีกา ก็มิใช่เป็นเหตุผลเพียงพอจะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 188 และมาตรา 15 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 335 วรรคหนึ่ง และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฏว่าโทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสอง
พิพากษายืน