แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับค่าจ้างจากแขวงการทางหนองคายที่ 2 (บึงกาฬ) ให้แก่โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งค่าจ้างที่แขวงการทางดังกล่าวจะชำระให้โจทก์แทนจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 ก็ต้องปฏิบัติตามสัญญาจ้างเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งไม่ปรากฏชัดว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าจ้างตามสัญญาจากแขวงการทางหนองคายที่ 2 เมื่อใด ทั้งแขวงการทางดังกล่าวก็ไม่เคยส่งเงินค่าจ้างดังกล่าวมาให้แก่โจทก์ แต่แขวงการทางหนองคายที่ 2 ส่งเงินจำนวน 2,403,558.82 บาท ไปยังศาลจังหวัดหนองคายตามคำสั่งอายัดเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องคดี จนถึงอายัดเงินดังกล่าวชั่วคราว การที่จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องจากบุคคลภายนอกให้โจทก์แทนการชำระหนี้ เมื่อค่าจ้างงานที่โอนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ถูกเจ้าหนี้อื่นอายัดไว้ชั่วคราว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้จะต้องรับผิดเพื่อการรอนสิทธิทำนองเดียวกับผู้ขาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 322 และจำเลยที่ 1 ยังต้องรับผิดในการรอนสิทธิตามมาตรา 475 ทั้งจำเลยที่ 1 ก็พิสูจน์ไม่ได้ว่ากรณีดังกล่าวเป็นความผิดของโจทก์ตามมาตรา 482 (1) แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องคดี เมื่อโจทก์ยังมิได้รับชำระหนี้จากการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและผู้จำนองซึ่งต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,043,323.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,686,503.49 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของโจทก์ สาขาหนองบัวลำภู เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เลขที่ 402 – 6 – 015XX – X เพื่อใช้สำหรับเป็นบัญชีเดินสะพัด เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์วงเงิน 2,500,000 บาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.75 ต่อปี ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 19 พฤษภาคม 2539 และวันที่ 24 กรกฎาคม 2539 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์อีก วงเงิน 2,500,000 บาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 19 พฤษภาคม 2540 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 349, 886 (ปัจจุบันเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 18727) และ 887 (ปัจจุบันเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 18726) ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู พร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ ต่อมามีการจดทะเบียนเพิ่มวงเงินจำนองหลายครั้งรวมเป็นเงิน 11,500,000 บาท มีข้อตกลงว่า หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ยอมชำระส่วนที่ขาดจนครบ ตามหนังสือสัญญาจำนอง หนังสือสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนอง และบันทึกข้อตกลง เรื่อง ขึ้นเงินจำนองเป็นประกัน ต่อมาวันที่ 8 ตุลาคม 2544 จำเลยที่ 1 ทำบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี คงเหลือวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีเพียง 2,000,000 บาท วันที่ 18 ธันวาคม 2549 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์และยอมรับว่า เพียงวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ค้างชำระหนี้ทั้งหมดเป็นเงิน 9,092,773.40 บาท ซึ่งโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้บางส่วนเป็นเงิน 1,530,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในสัญญา และวันที่ 25 เมษายน 2551 จำเลยที่ 1 ทำบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์อีก โดยยอมรับว่ามียอดหนี้ค้างชำระตามสัญญากู้ โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน และตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเดิม เพียงวันที่ 10 มีนาคม 2551 เป็นต้นเงินรวมดอกเบี้ยเป็นเงิน 5,036,485.38 บาท ตามบันทึกต่อท้ายสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์เพียงบางส่วน แล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้ ซึ่งโจทก์คิดถึงวันที่ 30 เมษายน 2551 จำเลยที่ 1 มียอดหนี้ค้างชำระสำหรับสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีคดีนี้เป็นต้นเงินและดอกเบี้ยทบต้น 1,686,503.49 บาท ซึ่งโจทก์คิดดอกเบี้ยกรณีผิดนัดในอัตราสูงสุดร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2551 ถึงวันฟ้องคิดดอกเบี้ยเป็นเงิน 135,844.39 บาท กับคิดดอกเบี้ยพักเป็นดอกเบี้ยรับ ณ วันที่ 25 กันยายน 2551 อีกเป็นเงิน 220,975.45 บาท รวมเป็นเงิน 2,043,323.33 บาท ตามรายการบัญชีและรายการคำนวณยอดหนี้ ซึ่งจำเลยทั้งสองค้างชำระหนี้แก่โจทก์ดังกล่าวและข้อเท็จจริงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่โจทก์ไม่ได้รับเงินตามสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 จากแขวงการทางหนองคายที่ 2 เป็นความผิดของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 มีหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องตามมาเป็นหลักฐาน ซึ่งนายพฤหัส พยานโจทก์มิได้ปฏิเสธการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว ทั้งนายช่างแขวงการทางหนองคายที่ 2 (บึงกาฬ) มีหนังสือตอบรับการอนุมัติการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว ให้แก่จำเลยที่ 1 ทราบก็ตาม แต่การโอนสิทธิเรียกร้องแทนการชำระหนี้ดังกล่าวหาทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากการต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ไม่ เป็นเพียงการโอนสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับค่าจ้างจากแขวงการทางหนองคายที่ 2 (บึงกาฬ) ให้แก่โจทก์ มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 เท่านั้น ซึ่งค่าจ้างที่แขวงการทางหนองคายที่ 2 จะชำระให้โจทก์แทนจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 ก็ต้องปฏิบัติตามสัญญาจ้างเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งก็ไม่ปรากฏชัดว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าจ้างตามสัญญาจากแขวงการทางหนองคายที่ 2 เมื่อใด ทั้งแขวงการทางหนองคายที่ 2 ก็ไม่เคยส่งเงินค่าจ้างดังกล่าวมาให้ แก่โจทก์ แล้วโจทก์บอกปัดไม่รับชำระหนี้ อันจะถือว่า โจทก์ตกเป็นผู้ผิดนัด แต่แขวงการทางหนองคายที่ 2 ส่งเงินจำนวน 2,403,558.82 บาท ไปยังศาลจังหวัดหนองคายตามคำสั่งอายัด ก็เนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องคดี จนถูกอายัดเงินดังกล่าวชั่วคราว แม้ต่อมากรมทางหลวงได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดหนองคายว่า สิทธิในการรับเงินค่างานตามสัญญาจ้าง เลขที่ บก.1/2548 และสัญญาจ้างเลขที่ บก.3/2548 ที่แขวงการทางหนองคายที่ 2 นำส่งต่อศาลจังหวัดหนองคายไม่ใช่สิทธิของจำเลยที่ 1 แล้ว เนื่องจากสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้โอนให้แก่โจทก์แล้วก่อนที่มีการออกหมายอายัดชั่วคราวดังกล่าว แต่ที่จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องจากบุคคลภายนอกให้โจทก์แทนการชำระหนี้ เมื่อค่าจ้างงานที่โอนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ถูกเจ้าหนี้อื่นอายัดไว้ชั่วคราว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้จะต้องรับผิดเพื่อการรอนสิทธิทำนองเดียวกับผู้ขาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 322 และจำเลยที่ 1 ยังต้องรับผิดในการรอนสิทธิตามมาตรา 475 ทั้งจำเลยที่ 1 ก็พิสูจน์ไม่ได้ว่า กรณีดังกล่าวเป็นความผิดของโจทก์ ตามมาตรา 482 (1) แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องคดี เมื่อโจทก์ยังมิได้รับชำระหนี้จากการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันและผู้จำนองซึ่งต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,043,323.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,686,503.49 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท