คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7451/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 จะเพิ่มโทษได้เฉพาะโทษจำคุกเท่านั้น เมื่อจำเลยกระทำความผิดและศาลเพียงแต่ลงโทษปรับ จึงเพิ่มโทษปรับไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2545 เวลากลางคืนหลังเที่ยงจำเลยทั้งห้าร่วมกันบุกรุกเข้าไปในห้องพัก อันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนางสาวอรอุมา ไมตระรัตน์ ผู้เสียหายที่ 1 โดยไม่มีเหตุอันสมควร มีมีดกับขวานเป็นอาวุธ และโดยใช้กำลังประทุษร้าย จำเลยทั้งห้าร่วมกันทำร้ายร่างกายนายสมเดช บุญมา ผู้เสียหายที่ 2 โดยใช้มีด ขวาน และไม้ทุบตีที่บริเวณศีรษะและลำคอของผู้เสียหายที่ 2 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายและจำเลยทั้งห้าร่วมกันพามีดและขวานไปในหมู่บ้าน หมู่ที่ 6 ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร โดยไม่มีเหตุสมควร จำเลยที่ 2 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 8 ปี 9 เดือน ฐานฆ่าผู้อื่นตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1779/2540 ของศาลชั้นต้น โดยพ้นโทษเมื่อปี 2543 จำเลยที่ 2 กลับมากระทำความผิดคดีนี้ภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ และจำเลยที่ 3 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2246/2544 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2544 ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 83, 91, 92, 295, 365, 371 กับเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 และบวกโทษจำเลยที่ 3 ตามกฎหมาย
จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและบวกโทษตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364, 371 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปในเคหสถานในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธและใช้กำลังประทุษร้าย กับฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปในเคหสถานในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธและใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับคนละ 90 บาท รวมจำคุก 1 ปี และปรับคนละ 90 บาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน และปรับ 120 บาท จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 คนละ 6 เดือน และปรับคนละ 45 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน และปรับ 60 บาท ให้บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2246/2544 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษของจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ เป็นจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 12 เดือน และปรับ 45 บาท หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะโทษในความผิดกระทงแรกลงโทษจำคุกคนละ 2 เดือน เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 เดือน 20 วัน ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 และรวมกับโทษอีกกระทงหนึ่ง ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 คงจำคุกคนละ 1 เดือน และปรับคนละ 45 บาท จำเลยที่ 2 คงจำคุก 1 เดือน 10 วัน และปรับ 60 บาท สำหรับจำเลยที่ 3 ให้บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้เข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้เป็นจำคุก 7 เดือน และปรับ 45 บาท โดยที่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน และโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน จึงอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 ให้ลงโทษกักขังจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 คนละ 1 เดือน แทนโทษจำคุก ถ้าจำเลยทั้งห้าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ประการสุดท้ายว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2246/2544 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษของจำเลยที่ 3 ในคดีนี้เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 3 เคยต้องโทษจำคุก 3 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2246/2544 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2544 และมีคำขอให้บวกโทษในคดีดังกล่าวเข้ากับโทษของจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ เมื่อจำเลยที่ 3 กระทำความผิดในคดีนี้อีก อันมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษในระหว่างที่ยังไม่ครบระยะเวลารอการลงโทษ 2 ปี และศาลอุทธรณ์ภาค 6 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงต้องนำโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษจำคุกไว้มาบวกเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคแรก และกรณีนี้มิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 3 เพราะกฎหมายบัญญัติให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลังด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพิ่มโทษปรับจำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ในความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรนั้น ไม่ถูกต้อง เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 บัญญัติว่า “…หากศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลังถึงจำคุก ก็ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้นหนึ่งในสามของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง” การเพิ่มโทษตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเพิ่มโทษได้เฉพาะโทษจำคุกเท่านั้น เมื่อการกระทำความผิดฐานดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพียงแต่ลงโทษปรับ จึงเพิ่มโทษในความผิดฐานนี้ไม่ได้ และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 นำโทษจำคุก 6 เดือนมาบวกเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ ก็ไม่ถูกต้อง เนื่องจากโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 3 ต้องโทษจำคุก 3 เดือนเท่านั้น จึงต้องนำโทษจำคุก 3 เดือน ที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษไว้มาบวกเข้ากับโทษของจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225″
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เพิ่มโทษปรับจำเลยที่ 2 หนึ่งในสามในความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าว 90 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 45 บาท ให้นำโทษจำคุก 3 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2246/2544 ของศาลชั้นต้น มาบวกเข้ากับโทษของจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ เป็นจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 4 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share