คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 744/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าทดแทนตามคำสั่งพนักงานเงินทดแทนในวันพิจารณา แรงงานจังหวัดมาศาล และได้ส่งสำนวนการสอบสวนกรณีลูกจ้างถึงแก่ความตายต่อศาลแรงงานกลางตามคำสั่งศาล ดังนี้ ถือได้ว่าสำนวนการสอบสวนดังกล่าวเป็นพยานศาลแล้ว (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 502/2518)
กรณีข้างต้น เมื่อศาลแรงงานสอบถามแรงงานจังหวัดย่อมถือได้ว่าแรงงานจังหวัดเป็นพยานของศาลแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา 45

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นทายาทของนายเชย ลูกจ้างของจำเลย นายเชยประสบอันตรายเนื่องจากทำงานให้จำเลยถึงแก่ความตาย พนักงานเงินทดแทนมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศพ ค่าทดแทน แก่โจทก์ จำเลยมิได้จ่ายจึงขอให้จำเลยจ่ายค่าทำศพและค่าทดแทนแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ก่อนฟ้องยังมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายแรงงาน จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ความตายของนายเชยเป็นผลมาจากเสพเครื่องดองของเมาจนไม่สามารถครองสติได้ และจงใจประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเพื่อให้ตนประสบอันตราย จำเลยไม่เคยได้รับคำสั่งพนักงานเงินทดแทนตามที่โจทก์ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา โจทก์แถลงไม่ติดใจเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลและค่าทำศพ คงติดใจเรียกร้องเฉพาะค่าทดแทนเท่านั้น นายวีระ ผู้ช่วยแรงงานจังหวัดรักษาราชการแทนแรงงานจังหวัดนราธิวาส ได้ส่งสำนวนการสอบสวนกรณีนายเชยถึงแก่ความตายต่อศาลแรงงานกลางตามคำสั่งศาลแรงงานกลาง ทนายจำเลยแถลงว่าจำเลยยังไม่ได้รับคำสั่งของพนักงานเงินทดแทน และจำเลยมิได้อุทธรณ์คำสั่งของพนักงานเงินทดแทนและไม่ได้นำคดีไปสู่ศาล นายวีระแถลงว่า พนักงานเงินทดแทนเคยเรียกจำเลยไปสอบสวนและรอจำเลยอยู่เกือบหนึ่งปี จำเลยไม่ไป พนักงานเงินทดแทนจึงดำเนินการไปตามกฎหมายแล้วแจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับมีผู้รับถูกต้องแล้ว ศาลแรงงานกลางตรวจสำนวนการสอบสวนแล้วพบใบตอบรับลงชื่อผู้รับคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนว่า “จารุณีย์ สิทธิลาย” โดยแจ้งว่าเป็นเสมียนของจำเลย ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีวินิจฉัยได้แล้ว จึงมีคำสั่งงดสืบพยานคู่ความทั้งสองฝ่าย
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ยื่นคำเรียกร้องเงินทดแทนจากจำเลยต่อพนักงานเงินทดแทนแล้ว พนักงานเงินทดแทนได้แจ้งคำสั่งเงินทดแทนให้จำเลยทราบโดยมีผู้รับโดยชอบแล้ว และฟังว่าจำเลยมิได้อุทธรณ์คำสั่งพนักงานเงินทดแทนต่ออธิบดีกรมแรงงาน และมิได้นำคดีไปสู่ศาล คำสั่งเงินทดแทนเป็นที่สุดแล้ว จำเลยไม่อาจอ้างเหตุใด ๆ ขึ้นต่อสู้ได้ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเงินทดแทนเท่าที่โจทก์ติดใจเรียกร้อง พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยให้การต่อสู้ไว้หลายประการ ชอบที่ศาลแรงงานจะต้องสืบพยานโจทก์พยานจำเลยให้เป็นที่ยุติก่อนแล้วจึงมีคำพิพากษา มิใช่รับฟังข้อเท็จจริงแต่บางส่วนแล้วเชื่อว่าถูกต้อง ดังนั้น คำสั่งของศาลแรงงานกลางให้งดสืบพยานคู่ความทั้งสองฝ่ายจึงยังไม่ถูกต้องเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประเด็นสำคัญแห่งคดีนี้อยู่ที่ว่าจำเลยทราบคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนแล้วหรือไม่ เพราะถ้าข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทราบแล้ว จำเลยย่อมไม่มีสิทธิต่อสู้คดีโต้แย้งใด ๆ ในชั้นศาลอีก ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๔๐๖ – ๓๔๑๐/๒๕๒๗ นายมงคล อับนาค กับพวก โจทก์บริษัทกรุงเทพเอ็นเตอร์ไพรม์ จำกัด กับพวก จำเลย พฤติการณ์แห่งคดีนี้มีว่าในวันนัดพิจารณา นายวีระ ผู้ช่วยแรงงานจังหวัด รักษาราชการแทนแรงงานจังหวัดนราธิวาสมาศาล และได้ส่งสำนวนการสอบสวนกรณีนายเชยถึงแก่ความตายต่อศาลแรงงานกลางตามคำสั่งศาล ครั้นแล้วศาลแรงงานกลางสอบข้อเท็จจริงจากนายวีระต่อหน้าโจทก์จำเลยกรณีดังกล่าวพึงถือได้ว่าสำนวนการสอบสวนที่นายวีระส่งศาลแรงงานกลางนั้น เป็นพยานศาลแล้ว เทียบเคียงได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๐๒/๒๕๑๘ นายบุญมา โพธิ์นาม โจทก์ นายนา พิกุลดก จำเลย ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เรื่องราวการออกโฉนดที่ดินที่จำเลยอ้างและเจ้าพนักงานที่ดินส่งมาตามคำสั่งศาล แม้จำเลยไม่ประสงค์อ้างต่อไป ศาลย่อมรับไว้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมถือเป็นพยานของศาลได้
ส่วนการที่ศาลแรงงานกลางสอบถามนายวีระนั้น ศาลฎีกาเห็นว่านอกจากศาลแรงงานกลางมีอำนาจกระทำได้ตามอำนาจทั่วไปของศาลแล้ว พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา ๔๕ ยังให้อำนาจไว้เป็นเฉพาะอีกสถานหนึ่งด้วย ดังบทบัญญัติในวรรคแรกที่ว่า “เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี ให้ศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร” อีกประการหนึ่ง การชักถามพยานในคดีแรงงานก็แตกต่างกว่าคดีแพ่งทั่วไป ดังจะเห็นได้จากมาตรา ๔๕ วรรคสองที่ว่า “ในการสืบพยานไมว่าจะเป็นพยานที่คู่ความฝ่ายใดอ้างหรือที่ศาลแรงงานเรียกมาเองให้ศาลแรงงานเป็นผู้ซักถามพยานตัวความหรือทนายความจะซักพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน” ด้วยอำนาจแห่งมาตรา ๔๕ ตามที่กล่าว ย่อมถือได้ว่านายวีระ เป็นพยานของศาล
เมื่อศาลแรงงานกลางมีทั้งพยานเอกสารและพยานบุคคลอยู่แล้วเช่นนี้และเห็นว่าตามพยานหลักฐานดังกล่าวได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนแจ้งชัดเพียงพอ ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจสั่งงดสืบพยานคู่ความเสียได้ทั้งสองฝ่ายเพื่อให้คดีดำเนินไปโดยรวดเร็วและยุติธรรม หาใช่เป็นการสั่งที่ไม่ถูกต้องและเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายตามที่จำเลยอุทธรณ์ไม่
พิพากษายืน.

Share