แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ปัญหาตามฎีกาโจทก์ที่ว่า ว. ได้ลงลายมือชื่อไว้ในเอกสารจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมหรือไม่ เป็นข้อที่ โจทก์ไม่เคยกล่าวไว้ในฟ้องเลย ฉะนั้น ฎีกาโจทก์ ในข้อนี้จึงเป็นการนอกฟ้องนอกประเด็นแม้ศาลชั้นต้น จะได้สั่งรับฎีกาโจทก์เรื่องนี้มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย ด้วยผลของพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 67 มาตรา 79 และมาตรา 80 ช. ปลัดอำเภอตรี ซึ่งเป็นกรมการอำเภอ หากมียศสูงกว่าผู้อื่นในขณะที่นายอำเภอทำการไม่ได้ในหน้าที่ชั่วคราวช. ก็ต้องเป็นผู้แทนของนายอำเภอมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในตำแหน่งของนายอำเภอที่ตนเป็นผู้แทนหรือต้องกระทำการแทนนั้นทุกอย่าง รวมทั้งการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมรายนี้ด้วย ส่วนข้อที่ว่าให้มีดวงตราประจำตำแหน่งนายอำเภอนั้น ตามมาตรา 78 บัญญัติไว้ในทำนองว่าในเวลาผู้ใดทำการแทนหรือรั้งตำแหน่งนั้นก็ให้ใช้ได้ ซึ่งไม่เป็นข้อกำหนดตายตัวว่าจะต้องใช้ตราดังกล่าวประทับทุกครั้งเสมอไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมฉบับเลขที่ 81/1185 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2515 ระหว่างนางสาวผาย อิ่มสุวรรณ ผู้รับบุตรบุญธรรมกับเด็กหญิงวินยะดาอิ่มสุวรรณ (จำเลยที่ 1) บุตรบุญธรรม เป็นโมฆะ ห้ามจำเลยที่ 1และที่ 2 เข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกของนางสาวผาย อิ่มสุวรรณ
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1เป็นบุตรของจำเลยที่ 2 กับนางวิลาวรรณ อิ่มสุวรรณและเป็นบุตรบุญธรรมของนางสาวผาย อิ่มสุวรรณ ซึ่งได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมถูกต้องตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ นางสาวผาย อิ่มสุวรรณ และนายผ่อน อิ่มสุวรรณบิดาจำเลยที่ 2 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันนางสาวผายไม่มีสามีและไม่มีบุตร นางสาวผายได้ขอจำเลยที่ 2ซึ่งอายุประมาณ 1 ขวบ และมีศักดิ์ เป็นหลานของนางสาวผายและโจทก์มาเลี้ยงดูจนกระทั่งจำเลยที่ 2 อายุได้ประมาณ 20 ปีต่อมาเมื่อจำเลยที่ 2 มีบุตรคือจำเลยที่ 1 ซึ่งเกิดกับนางวิลาวรรณ อิ่มสุวรรณ หรือเทพเบ็ญญา หรือวิลาวัลย์ ศรีมาวิน นางสาวผายประสงค์จะได้จำเลยที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรม นางสาวผายจึงได้ไปจดทะเบียนรับจำเลยที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรม ณ ที่ว่าการอำเภอพระนครศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2515 ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 1 มีอายุได้ประมาณ 5 เดือน ดังปรากฏ ตามทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม คร.14 เลขทะเบียนที่ 81/1185 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2515 ซึ่งมีว่าที่ร้อยตรีชวลิต สมานมิตรตำแหน่งปลัดอำเภอตรีของอำเภอพระนครศรีอยุธยา ลงลายมือชื่อในฐานะนายทะเบียนตามเอกสารหมาย จ.6คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า ในเอกสารหมาย จ.6ช่องที่ 9 นางวิลาวรรณ อิ่มสุวรรณ หรือเทพเบ็ญญา หรือวิลาวัลย์ศรีมาวิน ได้ลงลายมือชื่อไว้หรือไม่ ซึ่งความข้อนี้โจทก์ไม่เคยกล่าวไว้ในฟ้องเลยว่า การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมในครั้งนั้นไม่สมบูรณ์เพราะนางวิลาวรรณ อิ่มสุวรรณหรือเทพเบ็ญญา หรือวิลาวัลย์ ศรีมาวิน มิได้ลงลายมือชื่อไว้ในเอกสารดังกล่าวช่องที่ 9 โดยโจทก์คงกล่าวไว้ในฟ้องข้อ 4(ก) แต่เพียงว่า ในวันซึ่งจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม จำเลยที่ 2 กับนางวิลาวรรณ อิ่มสุวรรณ ไม่ได้เป็นบิดามารดาหรือผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ 1 เพราะไม่มีหลักฐานใดแสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2อีกทั้งจำเลยที่ 2 ยังได้นำข้อความอันเป็นเท็จให้เจ้าหน้าที่จดแจ้งว่าตนเป็นสามีภริยากับนางวิลาวรรณและมีภูมิลำเนาอยู่ตามที่ปรากฏในทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมดังกล่าวจำเลยที่ 2 กับนางวิลาวรรณจึงมิใช่บิดามารดาหรือผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ 1 ผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในขณะจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม อันเป็นคนละเรื่องกับข้อที่ว่านางวิลาวรรณได้ลงลายมือชื่อไว้ในเอกสารดังกล่าวหรือไม่ฉะนั้นฎีกาโจทก์ข้อนี้จึงเป็นการนอกฟ้องนอกประเด็นแม้ศาลชั้นต้นจะได้สั่งรับฎีกาโจทก์เรื่องนี้มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ว่าที่ร้อยตรีชวลิต สมานมิตรปลัดอำเภอตรีลงชื่อในฐานะนายทะเบียนรับบุตรบุญธรรมชอบหรือไม่ ซึ่งความเรื่องนี้ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 67 บัญญัติว่า “นายอำเภอ ปลัดอำเภอ สมุหบัญชีซึ่งรวมเรียกกันว่า กรมการอำเภอนี้ แม้มีตำแหน่งต่างกันย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันในการที่จะให้การปกครองอำเภอนั้นเรียบร้อยและเมื่อตำแหน่งใดการมากเหลือมือหรือว่าว่าง พนักงานกรมการอำเภอแม้อยู่ในตำแหน่งอื่นต้องช่วยและต้องทำแทนกัน จะถือว่าเป็นพนักงานต่างกันนั้นไม่ได้” มาตรา 79 บัญญัติว่า “ในเวลา นายอำเภอจะทำการในหน้าที่ไม่ได้ชั่วคราวก็ดี ให้กรมการอำเภอซึ่งมียศสูงกว่าผู้อื่นเป็นผู้แทน” และมาตรา 80 บัญญัติว่า “ผู้แทนมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของตำแหน่งที่แทนนั้นทุกอย่าง” ฉะนั้นด้วยผลของข้อกฎหมายดังกล่าว ว่าที่ร้อยตรีชวลิต ปลัดอำเภอตรี ซึ่งเป็นกรมการอำเภอของอำเภอพระนครศรีอยุธยาหากมียศสูงกว่าผู้อื่นในขณะที่นายอำเภอทำการไม่ได้ในหน้าที่ชั่วคราว โดยต้องออกไปตรวจท้องที่ก็ดีหรือด้วยเหตุอื่นก็ดี ว่าที่ร้อยตรีชวลิตก็ต้องเป็นผู้แทนของนายอำเภอมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในตำแหน่งของนายอำเภอที่ตนเป็นผู้แทนหรือต้องกระทำการแทนนั้นทุกอย่างรวมทั้งการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมรายนี้ด้วย เพื่อให้การปกครองอำเภอเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามภาระหน้าที่อันต้องรับผิดชอบร่วมกัน และตามมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติไว้ว่า “กรมการอำเภอต้องให้ราษฎรที่มีกิจธุระหาได้ทุกเมื่อ” ส่วนข้อที่ว่าให้มีดวงตราประจำตำแหน่งนายอำเภอนั้น ตามมาตรา 78 พระราชบัญญัติเดียวกันบัญญัติไว้ในทำนองว่าในเวลาผู้ใดทำการแทนหรือรั้งตำแหน่งนั้นก็ให้ใช้ได้ ซึ่งไม่เป็นข้อกำหนดตายตัวว่าจะต้องใช้ตราดังกล่าวประทับทุกครั้งเสมอไปเพราะหากถึงคราวจำเป็นโดยนายอำเภอลืมมอบตราไว้แก่ผู้ทำการแทนก็ดี หรือเกิดเหตุตราดังกล่าวสูญหายไปเสียชั่วคราวก็ดี การงานของอำเภอก็เป็นอันดำเนินการไปไม่ได้ซึ่งผิดวิสัย โจทก์เองอดีตเคยมีตำแหน่งเป็นนายอำเภอ ปลัดจังหวัด และผู้ตรวจราชการกรมการปกครองน่าจะต้องทราบถึงข้อกฎหมายและแนวทางการปฏิบัติงานเหล่านี้ดีนอกจากนี้โจทก์ยังไม่อาจสืบพยานให้เห็นได้ว่า ขณะที่มีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมนี้นั้น นายวิธาน สุวรรณทัศน์นายอำเภอพระนครศรีอยุธยามิได้ไปปฏิบัติราชการในท้องที่อื่นเป็นการชั่วคราว อันจะเป็นเหตุให้ว่าที่ร้อยตรีชวลิตกระทำการแทนในตำแหน่งนายอำเภอรวมทั้งการรับจดทะเบียนบุตรบุญธรรมรายนี้ไม่ได้หรือตอนนั้นยังมีกรมการอำเภอผู้อื่นที่มียศสูงกว่าว่าที่ร้อยตรีชวลิตอยู่ อีกประการหนึ่งในการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมดังกล่าว นายวิธานจะได้มอบหมายด้วยวาจาให้ว่าที่ร้อยตรีชวลิตดำเนินการแทนหรือไม่โจทก์สืบพยานไม่ได้ความชัดเจน ดังคำเบิกความของนายโอรส วงษ์สิทธิ์ นายอำเภอพระนครศรีอยุธยาคนปัจจุบันซึ่งถือเสมือนพยานคนกลางตอบทนายโจทก์ถามติงว่า หากนายอำเภอไม่อยู่จะมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรหรือด้วยวาจาก็ได้ตรงกันข้ามกับทางด้านจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2นางประยูร หาบุญเรือน และนางวิลาวรรณ อิ่มสุวรรณ หรือวิลาวัลย์ ศรีมาวินพยานจำเลยต่างเบิกความสอดคล้องกันว่าในวันจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม นางสาวผาย จำเลยที่ 2นางวิลาวรรณหรือวิลาวัลย์ และนางประยูรได้ไปด้วยกันโดยนางประยูรอุ้มจำเลยที่ 1 ไปด้วย จำเลยที่ 1 อายุ 5 เดือนครั้นไปถึงที่ว่าการอำเภอพระนครศรีอยุธยา (เดิมเรียกว่าอำเภอกรุงเก่า) ไม่พบนายอำเภอปลัดอำเภอจึงดำเนินการจดทะเบียนให้ ซึ่งทางอำเภอได้ขอดูใบสูติบัตรของจำเลยที่ 1บัตรประจำตัวประชาชนของผู้เกี่ยวข้อง ทะเบียนบ้านและเอกสารอื่น ๆ เมื่อตรวจสอบเอกสารแล้วก็ได้จดทะเบียนให้ตามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งตามบันทึกแผ่นที่ 2 ใช้คำว่า”นายทะเบียนได้สอบถามแล้ว” พฤติการณ์จึงเชื่อได้ว่าว่าที่ร้อยตรีชวลิตได้ดำเนินการแทนนายอำเภอในฐานะนายทะเบียนโดยชอบ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน