คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5241/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 148, 173 วรรคสอง (1), 182 (4), 225
วรรคหนึ่ง
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องและคำให้การจำเลยแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดชี้สองสถานและนัดฟังคำพิพากษา เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรวินิจฉัยชี้ขาดคดีให้เสร็จไปทั้งเรื่องโดยไม่ต้องสืบพยาน ย่อมเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาและมีคำสั่งดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา182 (4)
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 500/2535 ของศาลชั้นต้น โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้อย่างชัดแจ้งว่าบ้านเลขที่ 300/2 ซึ่งเป็นของ ว.อยู่ก่อนนั้นได้พังลง โจทก์ได้ปลูกขึ้นใหม่เมื่อปี 2535อันเป็นเวลาก่อนที่ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาในคดีแพ่ง จึงไม่ใช่มูลคดีเดียวกัน แต่เป็นมูลคดีที่ปรากฏขึ้นใหม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำนั้น ฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง แล้ว จึงชอบที่ศาลอุทธรณ์จะต้องรับวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ดังกล่าวของโจทก์
คดีก่อนจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ได้ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยว่า โจทก์เข้าไปอยู่อาศัยในบ้านเลขที่ 300/2 ซึ่ง ว.ได้ปลูกสร้างลงบนที่ดินที่ได้ยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินแล้ว โจทก์ได้ตัดฟันต้นไม้ของ ว.อันเป็นการกระทำละเมิดต่อ ว.ว.ได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่า ว.ไม่ประสงค์ให้โจทก์อยู่อาศัยในบ้านและที่ดินของ ว.ขอให้ขับไล่โจทก์และบริวาร กับเรียกค่าเสียหาย โจทก์ให้การว่า หลังจากที่ ว.ได้ยกบ้านและที่ดินให้ ส. แล้ว ส.ได้ขายบ้านและที่ดินนี้ให้โจทก์ โจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา ส่วนต้นไม้ไม่ใช่ของ ว.และโจทก์มิได้ตัดฟันศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกจากบ้านและที่ดินพิพาทโดยวินิจฉัยว่า ว.ไม่ได้ยกบ้านและที่ดินพิพาทให้ ส. และ ส.ไม่ได้ขายให้แก่โจทก์บ้านและที่ดินพิพาทจึงยังเป็นของ ว. โจทก์ฎีกา แต่ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ การที่โจทก์มาฟ้อง ท.ในฐานะทายาทของ ว.เป็นจำเลยที่ 1 และฟ้องจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรและทายาทของ ว.ในคดีนี้ว่า ที่ดินพิพาทโจทก์เป็นผู้ครอบครองและเป็นที่ราชพัสดุอันเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินบ้านเลขที่ 300/2 ซึ่งเป็นของ ว.อยู่ก่อนได้พังลง โจทก์ได้ปลูกสร้างโรงเรือนขึ้นใหม่แต่ใช้เลขที่บ้านเดิมและร่วมออกเงินเพื่อถมดินในที่ดินดังกล่าวกับผู้มีชื่ออีก3 คน ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุโจทก์เป็นผู้ครอบครองและมีสิทธิดีกว่าจำเลยทั้งสาม และให้บ้านเลขที่ 300/2 พร้อมรั้วเป็นของโจทก์ หากที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ราชพัสดุ ก็ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าดินที่ถมและค่ารั้วคอนกรีตพร้อมค่าบ้านเลขที่ 300/2 จำนวน 55,000 บาท แทนการรื้อถอนแก่โจทก์ ดังนี้แม้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้จะถือได้ว่าเป็นคู่ความเดียวกันกับคู่ความในคดีก่อนซึ่งได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วก็ตาม แต่ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้มีว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุหรือไม่ ซึ่งในคดีก่อนไม่มีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยดังกล่าว จึงมิใช่การที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ.มาตรา 148
ผลแห่งคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดในคดีแพ่งที่ว่าที่ดินและบ้านพิพาทยังเป็นของ ว. ย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ตามป.วิ.พ. มาตรา 145 โจทก์จำต้องยอมรับผลแห่งคำพิพากษานั้น โจทก์จะมาอ้างในคำฟ้องคดีนี้ว่าความจริงที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุอันเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินซึ่งโจทก์เป็นผู้ครอบครองและมีสิทธิดีกว่าจำเลยทั้งสาม โจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุ จึงมิได้ให้การต่อสู้ในประเด็นข้อนี้ไว้ในคดีก่อนหาได้ไม่ ดังนี้ เมื่อ ว.โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกบ้านและที่ดินพิพาทของ ว.เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลสั่งแสดงว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาท และมีสิทธิดีกว่าจำเลยทั้งสาม และให้บ้านเลขที่ 300/2 พร้อมรั้วรอบที่ดินเป็นของโจทก์ในคดีนี้อีก ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้กล่าวอ้างว่า โจทก์ได้ร่วมกับผู้มีชื่ออีก3 คน ถมดินในที่ดินแปลงพิพาทและโจทก์ได้ปลูกสร้างโรงเรือนขึ้นใหม่ในที่ดินพิพาทขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นเจ้าของบ้านที่โจทก์ปลูกสร้างขึ้นใหม่ และให้จำเลยทั้งสามชำระค่าดินที่ถมและรั้วคอนกรีตพร้อมค่าบ้านเลขที่ 300/2 จำนวน 55,000บาท แทนการรื้อถอนแก่โจทก์ ซึ่งเป็นคำขอบังคับทำนองเดียวกับคำขอให้ชดใช้เงินค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มขึ้นเพราะสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์ได้ปลูกสร้างลงในที่ดินของ ว.ในคดีก่อนโจทก์ในคดีนี้และคดีดังกล่าวเป็นบุคคลคนเดียวกัน ส่วนจำเลยในทั้งสองคดีปรากฏว่าในคดีก่อน โจทก์ฟ้อง ว.ซึ่งมีจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนที่ ว.ผู้มรณะในฐานะทายาท ส่วนในคดีนี้โจทก์ก็ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทของ ว.และโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่ดินและบ้านพิพาทของ ว.ถือได้ว่าจำเลยในทั้งสองคดีดังกล่าวเป็นคู่ความเดียวกัน เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับบ้านพิพาทและการถมดินในที่ดินพิพาทไว้ในคดีก่อน ซึ่งคดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น และโจทก์ยื่นคำฟ้องในคดีนี้ในเรื่องเดียวกันต่อศาลเดียวกันอีก ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.มาตรา 173 วรรคสอง (1)

Share