คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2821/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์มาศาลแต่ทนายความของโจทก์ไล่โจทก์ออกนอกห้องพิจารณาแล้วทนายโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยโดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม หากโจทก์อยู่ในห้องพิจารณาโจทก์จะไม่ยอมตกลงด้วยนั้นแม้เป็นความจริงก็เป็นเรื่องทนายความของโจทก์ซึ่งมีอำนาจประนีประนอมยอมความตามใบแต่งทนายความกระทำการฝ่าฝืนความประสงค์ของโจทก์ โจทก์จะเสียหายอย่างไรก็ต้องไปว่ากล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่งหาใช่เป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138(1) ไม่ โจทก์ฎีกาว่าสัญญาประนีประนอมยอมความทำขึ้นโดยฉ้อฉล ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความ และให้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ต่อไปตามรูปคดีโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้เป็นฝ่ายชนะคดีคำขอตามคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกาของโจทก์ จึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ซึ่งต้องเป็นค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ(2)(ก)ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เท่านั้น

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการให้เนื่องจากจำเลยบุตรประพฤติเนรคุณเกี่ยวกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 5170หากโอนคืนไม่ได้ให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 60,000 บาทแก่โจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยไม่ได้ประพฤติเนรคุณทั้งเป็นการให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยาและให้สิ่งที่มีค่าภารติดพันจึงถอนคืนการให้ไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง ต่อมาโจทก์และจำเลยตกลงประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยยอมชดใช้เงินจำนวน25,000 บาท ให้แก่โจทก์ แล้วโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องที่ดินตามฟ้องคืนจากจำเลยศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้วตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2539
ครั้นวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2539 โจทก์ยื่นอุทธรณ์อ้างว่าสัญญาประนีประนอมยอมความทำขึ้นโดยฉ้อฉล ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความ และให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ต่อไปตามรูปคดี
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีนี้เกิดขึ้นเพราะฉ้อฉลหรือไม่ โจทก์ฎีกาอ้างว่าในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์มาศาล แต่ทนายความของโจทก์ไล่โจทก์ออกนอกห้องพิจารณา แล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมหากโจทก์อยู่ในห้องพิจารณาโจทก์จะไม่ยอมตกลงด้วย กรณีถือว่าเป็นการฉ้อฉลนั้นเห็นว่า แม้รับฟังเป็นความจริงตามฎีกาของโจทก์ก็เป็นเรื่องทนายความของโจทก์ซึ่งมีอำนาจประนีประนอมยอมความตามใบแต่งทนายความกระทำการฝ่าฝืนความประสงค์ของโจทก์ หากโจทก์เสียหายอย่างไรก็จะต้องไปว่ากล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่งหาใช่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉลดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 138(1) บัญญัติไว้ไม่
อนึ่ง โจทก์อุทธรณ์ฎีกาว่าสัญญาประนีประนอมยอมความทำขึ้นโดยฉ้อฉล ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ต่อไปตามรูปคดีมิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้เป็นฝ่ายชนะคดี คำขอตามคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ (2)(ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เท่านั้น
พิพากษายืน

Share