แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
มีเครื่องพิมพ์ที่เจตนาใช้พิมพ์ธนบัตรปลอม แม้ขาดอุปกรณ์แต่ถ้ามีอุปกรณ์ประกอบเข้าก็ใช้พิมพ์ธนบัตรปลอมได้ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 246
เส้นสีแดงที่กระดาษของกลางต่างกับธนบัตรของแท้ เป็นเรื่องของขีดความสามารถที่จะทำปลอมไม่จำต้องถึงกับเหมือนของแท้จนไม่รู้ว่าปลอมหรือแท้
จำเลยให้การชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่คดีอยู่บ้าง และเคยช่วยเหลือราชการจนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ศาลลดโทษตาม มาตรา 78
โจทก์ส่งบันทึกภาษาจีนพร้อมด้วยคำแปลต่อศาลในวันที่สืบผู้แปลเพื่อยืนยันคำแปล ไม่ใช่ส่งในฐานะที่พยานเป็นผู้ชำนาญการพิเศษแสดงความเห็น ไม่ใช่กรณีตาม มาตรา 243 ที่ต้องส่งสำเนาเอกสารก่อน
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกจำเลย 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 246 ริบของกลาง จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าคำฟ้องของโจทก์มีลักษณะไม่แน่นอนเป็นสองฝักสองฝ่าย โดยกล่าวในตอนต้นว่าจำเลยได้บังอาจมีเครื่องมือหรือวัตถุสำหรับปลอมเงินตรา ซึ่งความจริงไม่มีกล่าวไว้ในตัวบทเลย แล้วโจทก์ก็มาสรุปเอาว่าจำเลยมีไว้เพื่อใช้ในการปลอมนั้น ได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 246 ในตอนต้นกล่าวถึงความผิดฐานทำเครื่องมือหรือวัตถุสำหรับปลอมเงินตรา ฯลฯ ตอนท้ายกล่าวถึงความผิดฐานมีไว้ว่า “หรือมีเครื่องมือวัตถุเช่นว่านั้นเพื่อใช้ในการปลอมหรือแปลง” เมื่ออ่านประกอบกับความในตอนต้นแล้วย่อมแปลว่า “หรือมีเครื่องมือหรือวัตถุสำหรับปลอมเงินตรา ฯลฯ เพื่อใช้ในการปลอมหรือแปลง” หรือกล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า “หรือมีเครื่องมือหรือวัตถุสำหรับปลอมเงินตรา ฯลฯ เพื่อใช้ในการปลอมหรือแปลงเงินตรา ฯลฯ” นั่นเอง คำบรรยายฟ้องของโจทก์จึงชัดเจนเป็นความผิดตามมาตรา 246 ตอนท้ายแล้ว ที่จำเลยฎีกาต่อไปว่าเครื่องมือหรือวัตถุนั้นต้องมีลักษณะสำเร็จรูป หรือสมบูรณ์แบบในตัวเลขที่จะนำไปใช้ปลอมแปลงเงินตราได้ และน่าจะไม่หมายถึงเครื่องมือหรือวัตถุหลายสิ่งมาประกอบกันแล้วเป็นความผิดดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น อันที่จริงปัญหาที่เกี่ยวกับคดีนี้ไม่เกี่ยวกับความสำเร็จรูปหรือลักษณะสมบูรณ์แบบดังถ้อยคำที่จำเลยใช้ เมื่ออ่านข้อความซึ่งจำเลยกล่าวไว้ยืดยาวแล้วคงจับใจความได้ว่าของกลางที่เจ้าพนักงานยึดมาได้นี้ยังไม่ครบบริบูรณ์นั่นเอง ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าเครื่องมือหรือวัตถุอันจะเป็นปัจจัยแห่งความผิดตามมาตรา 264 นั้นไม่จำต้องเป็นเครื่องมืออันหนึ่งอันเดียวหรือวัตถุสิ่งเดียวดังที่จำเลยอ้าง จะเห็นได้ชัดว่าสิ่งที่เรียกว่าเครื่องมือสำหรับทำการอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นอาจจะเป็นเครื่องมือหลายอย่างมาประกอบกันเข้าก็ได้ ความสำคัญอยู่ที่ว่ามีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะชี้ให้เห็นเจตนาของผู้กระทำกล่าวคือทำขึ้นไว้สำหรับปลอมหรือแปลงเงินตราฯลฯหรือไม่มีไว้เพื่อใช้ในการปลอมหรือแปลงเงินตรา ฯลฯ หรือไม่ ดังนี้ต่างหากที่นายสุวัตถิ์ รัชไชยบุญ พยานโจทก์เบิกความว่าเครื่องพิมพ์ปรู๊ฟที่เห็นนั้นอยู่ในสภาพที่จะพิมพ์ไม่ได้ในทันที เพราะจะต้องมีอุปกรณ์อย่างอื่นมาประกอบอีกเสียก่อน และนายอนันต์ เทพวนิช พยานโจทก์เบิกความว่า จะพิมพ์ธนบัตรปลอมในทันทีไม่ได้ เพราะอุปกรณ์บางอย่างได้ถอดออกไปแล้ว เช่นสายไฟยังไม่ได้ต่อเข้าเครื่อง และแม่พิมพ์ไม่มี ถ้าได้อุปกรณ์ที่ขาดหายไปมาประกอบเข้าแล้ว ก็จะสามารถพิมพ์ธนบัตรชนิดราคา 100 บาท แบบ 11 ปลอมได้นั้น เมื่อพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของนายอนันต์อีกตอนที่ว่า ที่ปรากฏเงาลวดลายของธนบัตรชนิดราคา 100 บาท แบบ 11 อยู่บนแผ่นหุ้มโมลก์ จึงเชื่อว่าเครื่องพิมพ์ที่อยู่ห้องชั้นบนนี้ได้ใช้พิมพ์ธนบัตรชนิดราคา 100 บาท แบบ 11 มาแล้ว ดังนี้ย่อมหมายความว่าเครื่องพิมพ์เครื่องนี้มีอุปกรณ์ประกอบครบ สามารถใช้พิมพ์ธนบัตรปลอมได้แล้ว เพียงแต่ว่า ในขณะที่เจ้าพนักงานไปตรวจค้นนั้นอุปกรณ์บางสิ่งถูกถอดออกไป และเจ้าพนักงานค้นไม่พบอุปกรณ์ดังกล่าวนั้น ดังที่พยานโจทก์เบิกความว่าเพล็ทหรือบล็อกที่ใช้พิมพ์ธนบัตรปลอมค้นหาไม่พบ ในขณะที่เจ้าพนักงานเข้าตรวจค้นจับกุมนั้นเครื่องพิมพ์จึงอยู่ในสภาพที่ยังไม่พร้อมที่จะพิมพ์ธนบัตรปลอมได้ทันทีเท่านั้น จะแปลว่าเครื่องมือหรือวัตถุซึ่งจำเลยมีไว้จะใช้ในการปลอมธนบัตรไม่ได้นั้น หาชอบไม่” ฯลฯ
“เส้นสีแดงที่กระดาษของกลางนั้น แม้จำเลยจะอ้างว่าต่างกับธนบัตรแท้ ก็เป็นเรื่องของขีดความสามารถที่จะทำปลอมได้เหมือนของแท้สักเพียงใด ไม่จำเป็นต้องปลอมได้ดีถึงขนาดที่ดูไม่รู้ว่าฉบับไหนเป็นของปลอม ฉบับไหนเป็นของแท้”
“จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายด้วยว่า โจทก์อ้างบันทึกของนายน้ำแซ่ลิ้ม เป็นพยาน ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 243เพราะโจทก์ส่งต่อศาลพร้อมด้วยคำแปลในวันที่โจทก์นำสืบนายวิวัฒน์ หุวิรัตน์มิได้ส่งสำเนาหนังสือล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวันก่อนวันเบิกความ พิเคราะห์แล้วเห็นว่ากรณีเป็นเรื่องที่โจทก์นำสืบว่านายน้ำ แซ่ลิ้ม บันทึกเรื่องราวให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ว่าอย่างไร แต่บันทึกนั้นนายน้ำ แซ่ลิ้ม เขียนเป็นภาษาจีนเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจัดให้นายวิวัฒน์ หุวิรัตน์ ผู้มีความรู้ทั้งภาษาจีนและภาษาไทยแปลข้อความในบันทึกนั้นเป็นภาษาไทย และโจทก์ส่งบันทึกนั้นพร้อมด้วยคำแปลต่อศาล ตามนัยของมาตรา 46 วรรคสามแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบกับมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การที่โจทก์นำนายวิวัฒน์ หุวิรัตน์ มาสืบด้วยก็เพื่อให้เบิกความยืนยันว่าพยานได้คำแปลไว้จริงเท่านั้น หาใช่ว่าโจทก์อ้างนายวิวัฒน์หุวิรัตน์ มาสืบในฐานะผู้ชำนาญการพิเศษทางภาษาจีนเพื่อให้แสดงความเห็นอันใดต่อศาลไม่ กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 243 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โจทก์ไม่จำต้องส่งคำแปลให้จำเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวันก่อนวันที่นายวิวัฒน์ หุวิรัตน์ เบิกความ”
“แต่ในชั้นสอบสวน จำเลยได้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างเช่นตอนที่ให้การว่า “ชาย 2 คน ที่นำเครื่องพิมพ์มาส่งให้จำเลยนั้นบอกว่าเครื่องพิมพ์เครื่องที่นำมาให้แทนเครื่องตัดกระดาษนั้นเป็นเครื่องพิมพ์พิเศษไม่มีในประเทศไทยสามารถพิมพ์ธนบัตรได้…. ผู้ขายบอกว่าเป็นเครื่องพิมพ์พิเศษสำหรับใช้พิมพ์ธนบัตรโดยเฉพาะ” เป็นต้น อีกทั้งปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้มีคุณความดีมาแต่ก่อน ได้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์และช่วยเหลือราชการในด้านต่าง ๆ จนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ 5 สมควรลดโทษให้จำเลยบ้าง
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่าลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลย 10 ปี นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”