คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2453/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ถูกควบคุมตัวในข้อหาจ้างผู้อื่นฆ่าสามีจำเลย โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปล่อยชั่วคราว การที่จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลโดยอ้างเหตุว่าไม่ควรให้ปล่อยชั่วคราวนั้น ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 เพราะศาลไม่ใช่เจ้าพนักงานตามความในกฎหมายมาตราดังกล่าวและไม่เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 เพราะจำเลยมิได้ฟ้องหาว่าโจทก์กระทำความผิดอาญาประการใด

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๒๐ โจทก์ถูกควบคุมในข้อหาจ้างผู้อื่นฆ่านายชอบ แป้นอินทร์ สามีจำเลยที่เรือนจำจังหวัดกาญจนบุรี โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรีขอให้ปล่อยชั่วคราว แต่ศาลสั่งไม่อนุญาต เพราะเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๒๐ เวลากลางวัน จำเลยบังอาจยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลดังกล่าวให้ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว “เนื่องจากสาเหตุอันเกี่ยวเนื่องกันที่ดิน ซึ่งขณะนี้ฟ้องร้องกันอยู่ที่ศาลจังหวัดนครปฐม” อันเป็นความเท็จ และข้อความอีกตอนหนึ่งว่า “โจทก์กล่าวอาฆาตจะฆ่าพวกจำเลยให้หมด และพยายามให้อิทธิพลต่าง ๆ ที่คอยข่มขู่ฝ่ายจำเลยให้เกิดความกลัว ทำให้ไม่สามารถนำพยานมาให้การในคดีดังกล่าวได้” อันเป็นความเท็จ และเป็นเหตุให้ศาลจังหวัดกาญจนบุรีไม่อนุญาตให้โจทก์ประกันตัว ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๒, ๑๗๕
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๒ ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษบัญญัติว่า “ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการผุ้ว่าคดีพนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กฎหมายระบุตัวเจ้าพนักงานไว้แน่นอนเพียง ๔ ประเภทดังกล่าว ความมุ่งหมายก็เพื่อลงโทษผุ้แจ้งความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่เจ้าพนักงานเหล่านั้น คดีนี้ตามฟ้องโจทก์จำเลยไปยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลในการขอปล่อยชั่วคราว ศาลมิใช่เจ้าพนักงานตามความในกฎหมายดังกล่าว ส่วนข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๕ นั้น กฎหมายบัญญัติเพื่อเอาโทษแก่ผู้ที่เอาความเท็จมาฟ้องหาว่าผู้อื่นกระทำผิดอาญา ซึ่งคดีนี้ตามรูปคดีจำเลยมิได้ฟ้องกล่าวหาว่าโจทก์กระทำความผิดอาญาประการใด ฉะนั้น กรณีตามคำฟ้องโจทก์จึงไม่มีมูลความผิดตามมาตรา ๑๗๒ และ ๑๗๕ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องมานั้น ชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share