คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7434/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เช็คพิพาทออกให้โจทก์ร่วมในมูลหนี้ซื้อขายรถยนต์ มิใช่มูลหนี้กู้ยืม การที่จำเลยฎีกาว่าคดีนี้มีมูลหนี้กู้ยืมโดยแปลงหนี้มาจากสัญญาซื้อขายจึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมายุติดังกล่าวแล้ว ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง โจทก์ร่วมได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งธนบุรีขอให้จำเลยคืนรถยนต์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 605,000 บาทและต่อมาขณะคดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการที่โจทก์ร่วมฟ้องคดีแพ่งดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์ร่วมได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขายสัญญาซื้อขายจึงเลิกกัน โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระราคารถยนต์มูลหนี้ตามเช็คพิพาทระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยจึงสิ้นผลผูกพันนั้นเมื่อข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยและมีคำสั่งแล้วว่า ตามคำร้องของ จำเลยไม่ปรากฏว่าศาลแพ่งธนบุรีมีคำพิพากษาให้จำเลยคืนรถยนต์อันเป็นมูลหนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาทหรือให้ใช้ราคารถยนต์ดังกล่าวคืน เช่นนี้ มูลหนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาทจึงยังไม่สิ้นผลผูกพันระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยคดีนี้จึงถือไม่ได้ว่าได้เลิกกันตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางสาววรรณวลี บำรุงหิรัญผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาว่า แม้มูลหนี้ 600,000 บาทเป็นมูลหนี้ซื้อขายรถยนต์ เมื่อจำเลยขอผัดผ่อนชำระหนี้โจทก์ร่วมก็ยินยอม แต่ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือนกรณีเป็นเสมือนหนึ่งว่า โจทก์ร่วมได้รับเงินจำนวน600,000 บาท จากจำเลยแล้ว และจำเลยขอกู้ยืมเงินจำนวนนั้นคืนอีกโดยไม่ต้องส่งมอบเงินกัน จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่จากหนี้ตามสัญญาซื้อขายเป็นหนี้กู้ยืม การคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน บอกกับต้นเงินและให้จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ร่วม จึงเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 เช็คพิพาทจึงมีมูลหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นหนี้ไม่อาจบังคับได้รวมอยู่ด้วย เห็นว่าคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี คู่ความจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งดังนั้น ในการวินิจฉัยข้อกฎหมาย ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เช็คพิพาทออกให้โจทก์ร่วมในมูลหนี้ซื้อขายรถยนต์มิใช่มูลหนี้กู้ยืมการที่จำเลยฎีกาว่าคดีนี้มีมูลหนี้กู้ยืมโดยแปลงหนี้มาจากสัญญาซื้อขายจึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมายุติดังกล่าวแล้ว ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นแม้ศาลชั้นต้นรับฎีกามา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
จำเลยฎีกาข้อกฎหมายต่อมาว่า ที่โจทก์ร่วมได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งธนบุรีในสำนวนดคีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3459/2536ระหว่างนางสาววรรณวลี (โจทก์ร่วม) โจทก์ และนายสุรชัย (จำเลย) กับพวก จำเลยขอให้คืนรถยนต์หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 605,000 บาท และต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่โจทก์ร่วมฟ้องคดีแพ่งดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์ร่วมได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขาย สัญญาซื้อขายจึงเลิกกัน โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระราคารถยนต์ มูลหนี้ตามเช็คพิพาทระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยจึงสิ้นผลผูกพันเห็นว่า ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยและมีคำสั่งแล้วว่า ตามคำร้องของ จำเลยไม่ปรากฏว่าศาลแพ่งธนบุรีมีคำพิพากษาให้จำเลยคืนรถยนต์อันเป็นมูลหนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาทหรือให้ใช้ราคารถยนต์ดังกล่าวคืนเช่นนี้ มูลหนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาทจึงยังไม่สิ้นผลผูกพันระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลย คดีนี้จึงถือไม่ได้ว่าได้เลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 แต่อย่างใดเช็คพิพาทจึงยังมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย คำพิพากษาและคำสั่งศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share