คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7429/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีนี้และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 812/2544 ของศาลชั้นต้น มีคู่ความรายเดียวกันและประเด็นข้อพิพาทประเด็นเดียวกันว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ผู้ร้องและพินัยกรรมปลอมหรือไม่ เมื่อในคดีที่ผู้คัดค้านเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลย ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มีคำพิพากษาว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมถูกต้องไม่เป็นพินัยกรรมปลอม ดังนั้น การวินิจฉัยคดีนี้ว่าพินัยกรรมของผู้ตายเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับประเด็นข้อพิพาทที่ได้วินิจฉัยไว้ในคดีดังกล่าว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้
เมื่อปรากฏว่าคดีหมายเลขแดงที่ 812/2544 ของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมถูกต้องไม่เป็นพินัยกรรมปลอม ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “…คำพิพากษาหรือคำสั่งใดๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่งนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง จนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง…” ดังนั้น จึงต้องฟังว่าพินัยกรรมถูกต้องไม่เป็นพินัยกรรมปลอมและใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายไม่มีเหตุที่จะตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จึงต้องถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า สืบเนื่องมาจากศาลได้มีคำสั่งตั้งนายประเสริฐเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิชัย แต่ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้อง นายประเสริฐจึงไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ขอให้ศาลมีคำสั่งถอนนายประเสริฐออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถอนนายประเสริฐผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิชัย ผู้ตาย และมีคำสั่งตั้งให้นางจิดาภา ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิชัย ผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายวิชัย ผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านเป็นพี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกันกับผู้ตาย ผู้ร้องและผู้ตายไม่มีบุตรด้วยกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2543 ผู้ตายถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคดีหมายเลขแดงที่ 574/2543 ของศาลชั้นต้น และผู้ร้องมายื่นคำร้องขอถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกตามคดีนี้โดยอ้างว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่ผู้ร้อง ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านได้ยื่นฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยตามคดีหมายเลขดำที่ 196/2544 หมายเลขแดงที่ 812/2544 ของศาลชั้นต้น อ้างว่าพินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้างเป็นพินัยกรรมปลอม ขอให้กำจัดผู้ร้องไม่ให้รับมรดกของผู้ตายและขอให้ผู้ร้องส่งต้นฉบับโฉนดที่ดินทุกแปลงตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องให้โจทก์ และห้ามผู้ร้องเกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่งพิจารณาของศาลฎีกา โดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและฟังว่าผู้ตายทำพินัยกรรมถูกต้องตามกฎหมายไม่ใช่พินัยกรรมปลอม ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2544 ก่อนคดีนี้ ตามสำเนาคำพิพากษา ส่วนคดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว ผู้คัดค้านไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ขอให้ถอนผู้คัดค้นออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผูคัดค้านว่า ประเด็นข้อพิพาทเรื่องพินัยกรรมปลอมในคดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 812/2544 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า คดีทั้งสองมีคู่ความรายเดียวกันและประเด็นข้อพิพาทประเด็นเดียวกันว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ผู้ร้องและพินัยกรรมปลอมหรือไม่ เมื่อในคดีที่ผู้คัดค้านเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลย ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มีคำพิพากษาว่า ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมถูกต้องไม่เป็นพินัยกรรมปลอม ดังนั้น การวินิจฉัยคดีนี้ว่าพินัยกรรมของผู้ตายเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับประเด็นข้อพิพาทที่ได้วินิจฉัยไว้ในคดีดังกล่าวต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องตามฎีกาของผู้คัดค้านได้ ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า มีเหตุสมควรที่จะถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ และมีเหตุตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ และมีเหตุตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ในประเด็นที่ว่าผู้ตายทำพินัยกรรมและพินัยกรรมปลอมหรือไม่ ปรากฏว่าในคดีหมายเลขแดงที่ 812/2544 ของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมถูกต้องไม่เป็นพินัยกรรมปลอมซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “…คำพิพากษาหรือคำสั่งใดๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่งนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง จนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ได้ถูกเปลี่ยนแปลง…” ดังนั้น จึงต้องฟังว่า พินัยกรรมถูกต้องไม่เป็นพินัยกรรมปลอมและใช้บังคับได้ตามกฎหมายผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านไม่มีส่วนได้เสียและไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ไม่มีเหตุที่จะตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จึงต้องถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำแก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความในชั้นฎีกาให้

Share