คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7428/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน 25,000 บาททำสัญญากู้เงินมอบให้โจทก์ไว้เป็นหลักฐานตามสำเนาสัญญากู้เงินท้ายฟ้อง จำเลยให้การว่า จำเลยกู้ยืมเงินจำนวน 25,000 บาทไปจากโจทก์จริง โดยการกู้ยืมโจทก์ให้จำเลยลงลายมือชื่อในกระดาษที่ไม่มีการกรอกข้อความไว้ สัญญากู้เงินตามเอกสารท้ายฟ้อง โจทก์เป็นผู้กรอกข้อความขึ้นเองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยจึงเป็นสัญญาปลอมทั้งฉบับ ตามคำให้การของจำเลย จำเลยรับแล้วว่าได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปจริงตามที่โจทก์ฟ้อง โดยจำเลยลงลายมือชื่อไว้ในกระดาษที่ไม่มีการกรอกข้อความไว้ แม้หากข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามคำให้การของจำเลยว่า สัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเอกสารที่โจทก์กรอกข้อความขึ้นเองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยก็ตามแต่โจทก์ได้กรอกจำนวนเงินที่กู้ยืมตามความเป็นจริง อัตราดอกเบี้ยก็ไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือที่ได้ตกลงกันไว้ การกู้ยืมเงินครั้งนี้จึงเป็นการกู้ยืมเงินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้ยืมเป็นสำคัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่งจำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2532 จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน 25,000 บาท ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 15ต่อปี กำหนดชำระหนี้คืนภายในวันที่ 30 เมษายน 2532 เมื่อถึงกำหนดเวลาดังกล่าวจำเลยไม่ได้นำเงินมาชำระหนี้ โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย รวมค้างดอกเบี้ยเป็นเวลา 7 ปี 11 เดือน เป็นเงินดอกเบี้ย 29,375 บาท คิดถึงวันฟ้องจำเลยคงเป็นหนี้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 54,375 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 54,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน25,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยกู้ยืมเงินจำนวน 25,000 บาท ไปจากโจทก์จริง โดยการกู้ยืมครั้งนี้โจทก์ให้จำเลยลงลายมือชื่อในกระดาษที่ไม่มีการกรอกข้อความไว้ และเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยเป็นรายเดือนเดือนละ 1,250 บาท จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทุก ๆ เดือนตลอดมา สัญญากู้เงินตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 โจทก์เป็นผู้กรอกข้อความขึ้นเองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยจึงเป็นสัญญาปลอมทั้งฉบับ โจทก์ไม่มีสิทธินำมาฟ้อง เงินที่จำเลยกู้ยืมไปจากโจทก์เมื่อปี 2532 จำเลยนำไปชำระให้เสร็จสิ้นเมื่อปี 2535หลังจากที่จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้วจำเลยก็ได้ทวงถามขอสัญญาที่ลงลายมือชื่อไว้โดยมิได้กรอกข้อความคืน แต่โจทก์อ้างว่ายังหาไม่พบ และหากฟังได้ว่าจำเลยยังคงค้างชำระหนี้เงินกู้โจทก์ โจทก์ก็คงเรียกดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้เพียง 5 ปี เท่านั้นขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเอกสารปลอมเท่ากับว่าการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์จำเลยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้ยืม ฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า สัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเอกสารที่แท้จริง จำเลยยังคงค้างชำระตามฟ้อง สิทธิเรียกร้องในหนี้ที่ค้างชำระยังไม่ขาดอายุความ พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระหนี้จำนวน 54,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน25,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์โดยให้นำเงินจำนวน 3,240 บาท คำนวณหักออกจากจำนวนดอกเบี้ย

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงขึ้นมาเพียงประเด็นเดียวว่า สัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเอกสารปลอมเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน 25,000 บาททำสัญญากู้เงินมอบให้โจทก์ไว้เป็นหลักฐานตามสำเนาสัญญากู้เงินท้ายฟ้อง จำเลยให้การว่า จำเลยกู้ยืมเงินจำนวน 25,000 บาทไปจากโจทก์จริง โดยการกู้ยืมครั้งนี้โจทก์ให้จำเลยลงลายมือชื่อในกระดาษที่ไม่มีการกรอกข้อความไว้ สัญญากู้เงินตามเอกสารท้ายฟ้อง โจทก์เป็นผู้กรอกข้อความขึ้นเองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลย จึงเป็นสัญญาปลอมทั้งฉบับ โจทก์ไม่มีสิทธินำมาฟ้องดังนั้น ตามคำให้การของจำเลยฟังได้ว่าจำเลยรับแล้วว่าได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปจริงตามที่โจทก์ฟ้อง โดยจำเลยลงลายมือชื่อไว้ในกระดาษที่ไม่มีการกรอกข้อความไว้ แม้หากข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามคำให้การของจำเลยว่า สัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเอกสารที่โจทก์กรอกข้อความขึ้นเองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยก็ตามแต่โจทก์ได้กรอกจำนวนเงินที่กู้ยืมตามความเป็นจริง อัตราดอกเบี้ยก็ไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือที่ได้ตกลงกันไว้ การกู้ยืมเงินครั้งนี้จึงเป็นการกู้ยืมเงินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้ยืมเป็นสำคัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่จำเลยฎีกาโต้เถียงขึ้นมา จำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง

พิพากษายืน

Share