คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3136/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลรับฟังเอกสารภาษาต่างประเทศทั้งฉบับโดยโจทก์ไม่ได้ทำคำแปลเป็นภาษาไทย เป็นการรับฟังพยานหลักฐานโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมาย มิใช่ข้อเท็จจริง แต่เอกสารนั้นคู่ความส่งต่อศาลได้โดยไม่จำต้องทำคำแปลเป็นภาษาไทยยื่นต่อศาลเสมอไปนอกจากศาลสั่งให้ทำคำแปล เมื่อศาลมิได้สั่งให้ทำคำแปล ศาลย่อมรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ได้
แม้จำเลยมิได้ให้การถึงเงินสะสม 10,000 บาทว่าโจทก์มีสิทธิได้รับหรือไม่เพียงใด ซึ่งต้องถือว่าจำเลยรับว่าโจทก์มีสิทธิรับเงินสะสม 10,000 บาทก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้รับเงินสะสมไปบ้างแล้ว การที่ศาลวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายเงินสะสมแก่โจทก์อีกโดยที่โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับย่อมไม่ชอบซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยมีสิทธิยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอุทธรณ์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2538 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานตำแหน่งสุดท้ายเป็นช่างเทคนิค อัตราค่าจ้างเดือนละ 11,400 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และ 30 ของเดือน ต่อมาวันที่ 24 พฤษภาคม 2540 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 8,360 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 34,200บาท เงินสะสมจำนวน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าชดเชยจำนวน 34,200 บาท

จำเลยให้การด้วยวาจาว่า เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2540 โจทก์มิได้ไปทำงานแต่ได้ใช้เพื่อนพนักงานคนอื่นตอกบัตรบันทึกเวลาการทำงานแทนซึ่งเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำความผิดร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ตอกบัตรบันทึกเวลาการทำงานอาจทำงานผิดพลาดหรือบกพร่องได้โจทก์โทรศัพท์ขอลาป่วยต่อผู้บังคับบัญชาในวันที่ 6 พฤษภาคม 2540และเขียนใบลาป่วยในวันรุ่งขึ้นทันทีที่กลับไปทำงาน พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดร้ายแรงจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุอันชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เงินสะสมและค่าชดเชยแก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 8,360 บาท ค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 34,200 บาท และเงินสะสมจำนวน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้อง (วันที่ 25 พฤศจิกายน 2540)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าชดเชยจำนวน 34,200 บาทแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งเป็นภาษาต่างประเทศทั้งฉบับโดยโจทก์ไม่ได้ทำคำแปลเป็นภาษาไทยเป็นการรับฟังพยานหลักฐานโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อกฎหมายมิใช่ข้อเท็จจริงดังที่โจทก์แก้อุทธรณ์ จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์ได้ แต่เอกสารที่ทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศนั้นคู่ความส่งต่อศาลได้โดยไม่จำต้องทำคำแปลเป็นภาษาไทยยื่นต่อศาลเสมอไป นอกจากศาลสั่งให้ทำคำแปลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 46 วรรคสาม ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 เมื่อศาลมิได้สั่งให้โจทก์ทำคำแปล ศาลย่อมรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายเงินสะสมจำนวน 10,000 บาทโดยที่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับเงินสะสมไปแล้วเป็นการวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะมิได้ให้การถึงเงินสะสมจำนวน 10,000 บาทว่าโจทก์มีสิทธิได้รับหรือไม่เพียงใด ซึ่งต้องถือว่าจำเลยรับว่าโจทก์มีสิทธิรับเงินสะสม 10,000 บาทก็ตามแต่ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าโจทก์ได้รับเงินสะสมไปบ้างแล้ว การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายเงินสะสมแก่โจทก์อีก โดยที่โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจำเลยย่อมมีสิทธิยกปัญหาข้อกฎหมายนี้ขึ้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยหาได้ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ดังที่โจทก์แก้อุทธรณ์ไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยจ่ายเงินสะสมจำนวน 10,000 บาท ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยจ่ายเงินสะสมให้โจทก์แล้วเป็นจำนวน 7,404.24 บาท ดังนั้น จำเลยจึงต้องจ่ายเงินสะสมให้โจทก์อีกเพียง 2,595.76 บาทเท่านั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินสะสมจำนวน 10,000 บาทแก่โจทก์ จึงไม่ถูกต้องอุทธรณ์จำเลยฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายเงินสะสมจำนวน 2,595.76 บาทคืนแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share